เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564  ที่ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ  กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) กระทรวงการคลัง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสถานศึกษาส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. สำหรับผู้บริหารระดับสูง ในสังกัด สพฐ. เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมการออมในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษา ภายใต้สังกัด สพฐ. และหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ  โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมกับการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศ ทั้งยังเป็นการวางแผนทางการเงิน และส่งเสริมการออมให้แก่นักเรียนที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.

“แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  ได้เน้นเรื่องการรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาวของประชาชนตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุ เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตหลังเกษียณในระดับพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพื่อให้ประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยระบบการออมเงินเพื่อการเกษียณของประเทศไทยมี 2 รูปแบบ ทั้งการออมภาคบังคับ และภาคสมัครใจ โดย กอช.เป็นการออมภาคสมัครใจสำหรับประชาชนอายุ 15-60 ปี ซึ่งในปีนี้ กอช.จะเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการวางแผนออมเงินกับ กอช. ในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปให้รู้จักการออมเงินเพื่ออนาคต และสมัครเป็นสมาชิก กอช.  เพื่อวางรากฐานชีวิตที่มั่นคงในอนาคต”รมว.คลังกล่าว

ด้าน  ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาราชการแทน รมว.ศึกษาธิการ กล่าว กอช.จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เด็กนักเรียน ได้ตระหนักถึงการออมตั้งแต่วัยเรียน เป็นการปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักค่าของเงิน รู้จักเก็บออม เริ่มจากการเก็บเล็กผสมน้อย สร้างนิสัยการออมเงินเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็น รากฐานของการออมเงิน สำหรับน้องนักเรียนที่ยังเรียนอยู่ เพียงเริ่มวางแผนออมเงินวันละ 1 บาท พอมีเงินครบ 50 บาท ก็สามารถนำมาออมกับ กอช.ได้ ความน่าสนใจ คือ รัฐบาลจะสมทบเงินให้ตามสัดส่วนของเงินออมในแต่ละช่วงอายุ เช่น  อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน  600 บาทต่อปี เป็นต้น  ซึ่งในอนาคตเมื่อเรามีรายได้มากขึ้นเงินเก็บของเราก็จะได้เพิ่มพูนขึ้น

ขณะที่ น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. กล่าวว่า กอช.จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และได้เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2558 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการออมเงิน เปิดโอกาสให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เข้าร่วมออมเงินกับรัฐบาลเพื่ออนาคต โดยทุกครั้งที่สมาชิกส่งเงินออมสะสม รัฐบาลจะเติมเงินสมทบเพิ่มให้ตามช่วงอายุ อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน  600 บาทต่อปี อายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน  960 บาทต่อปี อายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสม   สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี

“ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษา ภายใต้สังกัด สพฐ. ได้รู้จักการออมเงินเพื่ออนาคต และสมัครเป็นสมาชิก กอช.เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันหลังเกษียณเป็นรายเดือน และสร้างความมั่นคงทางการเงินในชีวิต ให้มีกินมีใช้ในอนาคต เพียงออมเงินขั้นต่ำ 50 บาทต่อครั้งต่อปี เมื่อเรียนจบได้ทำงานในระบบ หรือรับราชการ สถานะการเป็นสมาชิกยังคงอยู่ ออมต่อได้เรื่อย ๆ จนอายุครบ 60 ปี พร้อมรับเงินสมทบเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุของสมาชิก และเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กอช.ก็จะจ่ายเงินบำนาญรายเดือนให้สมาชิก”เลขาธิการ กอช.

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า เรื่องการออมถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่จะต้องสอนให้เด็กรู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็มีอยู่ในหนวดวิชาสังคม วิชาเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว เพียงแต่ครูจะหยิบเรื่องนี้ไปเน้นหรือเติมในหน่วยการเรียนอย่างไร จะฝึกให้เด็กปฏิบัติอย่างไร

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments