เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ตามที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิต หรือ การมีรายได้ของประชาชนในแต่ละจังหวัด โดยได้มีการทำโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และ โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จากนั้นจะมีการต่อยอดว่า เมื่อสามารถทำโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และ โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ให้เกิดขึ้นได้แล้ว การจะทำให้เด็กมีรายได้และมีงานทำได้นั้น การจัดการศึกษาพื้นฐานกับการอาชีวศึกษาจะต้องมีความเชื่อมโยงกัน รมว.ศึกษาธิการจึงมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)หารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ว่าจะจัดการศึกษาเชื่อมโยงเป็นการศึกษาพื้นฐานสู่อาชีพได้อย่างไร
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สพฐ.และสอศ.ได้มีการหารือร่วมกันแล้ว และได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า จะมีการจัด“ห้องเรียนอาชีพ” ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน โดยดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ 1. การจัดหลักสูตรอาชีพระยะสั้น เพื่อให้เด็กเรียนแล้วสามารถนำไปเป็นอาชีพได้จริงในระยะสั้น ๆ เช่น การประกอบอาหาร ขนม เป็นต้น และ 2. จัดเป็นหน่วยการเรียนซึ่งจะมีการกำหนดให้เรียนในวิชาพื้นฐานหรือวิชาเลือก ให้นักเรียนสามารถนับหน่วยกิต หรือ นำผลการเรียนไปเก็บสะสมในเครดิตแบงก์ เพื่อโอนไปใช้ในการเรียนต่อสายอาชีวศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)ได้ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)อย่างเป็นทางการในประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อจะให้เริ่มดำเนินการจัดห้องเรียนอาชีพทั้งระดับ ม.ต้นและ ม.ปลาย ในโรงเรียนที่มีความพร้อม ในปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป