เมื่อวันที่ 6 มกราคม ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบทางไกล(วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์)ว่า ตนได้ทำความเข้าใจกับผู้อำนวยการ สพท. ทั้ง 225 เขต ทั่วประเทศ ถึงข้อปฏิบัติภายใต้ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ สพท.และโรงเรียนทุกแห่ง สร้างมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาติดเชื้อโควิด-19 โดยจะต้องปฏิบัติตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค., ปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และปฏิบัติตามประกาศของจังหวัดกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรเป็นหลัก

เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ได้ให้สพท.และโรงเรียนทุกแห่ง ออกแบบการติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลเป็นรายวันหรือตามสถานการณ์ที่เกิดเหตุในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และทันต่อสถานการณ์ ส่วนการเตรียมการเผชิญเหตุและการรับมือในจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง สพฐ.ได้ให้โรงเรียนในจังหวัดในพื้นที่สีแดงปิดเรียนทุกแห่งแล้ว ส่วนกระบวนการจัดการเรียนการสอน สพฐ.มีรูปแบบการเรียนให้โรงเรียนเลือกสอนตามบริบทของตน 5 รูปแบบ คือ 1.เรียนออนไซท์ 2.การเรียนออนแอร์  3.การเรียนออนไลน์ 4.การเรียนออนดีมานด์ โดยจัดการเรียนการสอนผ่านแอพพิเคชั่นต่างๆ และ 5.หากโรงเรียนไม่สามารถสอนตามทั้ง4ข้อได้ ให้ครูจัดใบงานให้นักเรียนไปเรียนที่บ้าน โดยให้ผู้ปกครองช่วยดูแล และครูออกไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว

“การจัดการเรียนการสอนท่ามกลางวิกฤตนี้ สพฐ.ได้ถอดบทเรียนจากวิกฤตครั้งที่ผ่านมา และวางแผนการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียน ไม่ว่าโรงเรียนจะปิดหรือไม่ก็ตาม และในส่วนของการสนับสนุนงบประมาณ สพฐ.แจ้งให้โรงเรียนนำเงินที่ได้รับจัดสรรเพื่อพัฒนาผู้เรียน ไปเป็นงบประมาณใช้จ่ายในการเรียนการสอนช่วงนี้ไปก่อน อย่างไรก็ตามจะไม่เลื่อนการปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 และไม่เลื่อนการสอบของนักเรียน แต่ถ้าวิกฤตโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย สพฐ.จะปรับรูปแบบการสอบเพื่อไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยของนักเรียน เพราะหากขยายเวลาเรียนไปจะส่งผลกระทบต่อการเรียนและการสอบของนักเรียนในระดับชั้น ม.6 ที่จะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย” นายอัมพร กล่าว

ด้านนายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 มกราคม สพฐ.ได้รับรายงานพบว่ามีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ปิดแล้ว 6,903 แห่ง ใน 44 จังหวัด แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 67 เขต ปิดโรงเรียนไป 6,145 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน  21 เขต ปิดโรงเรียนไป 758 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากประชุมผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ ดร.อัมพร ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เช็คจำนวนผอ.เขตพื้นที่ฯเข้าร่วมประชุมพบว่ามีจำนวน 25 เขตพื้นที่การศึกษาจาก 225 เขตพื้นที่ฯไม่เข้าร่วมประชุมจึงสั่งให้25 เขตพื้นที่ฯรายงานมาว่ารับฟังการประชุมดังกล่าวทางช่องทางไหน หรือได้รับฟังการประชุมหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องนำไปปฏิบัติ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments