เมื่อวันที่ 2พฤศจิกายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณรมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการมอบนโยบายการจัดการศึกษาแก่คณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และ เครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ว่า ประเทศจะขับเคลื่อนไปได้เราจะต้องผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งทางด้านอาชีวศึกษา ขณะเดียวกันสายสามัญก็ทิ้งไม่ได้ โดยมีโจทย์ที่สำคัญคือการยกระดับรายได้ของประชาชนและยกระดับอาชีพผ่านกระบวนการศึกษา จึงเป็นที่มาของนโยบายการศึกษายกกำลังสอง และ จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้มาพูดกับชาวกระทรวงศึกษาธิการถึงสองครั้งว่า อยากให้ยกกำลังสิบเลยได้หรือไม่ ซึ่งก็คือการทำให้เร็วขึ้น ตูมตามกว่าที่ทำได้อีกหรือไม่ นั่นแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ซึ่งวันนี้เราก็เห็นอะไรหลายอย่างแล้ว ว่าเราจะเดินไปอย่างไร แต่ก็ยังไม่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับเด็กเด็กได้ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันกันอย่างจริงจัง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการอาชีวศึกษาสิ่งที่จะขับเคลื่อนอาชีวะในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้านี้คงเป็นเรื่องของการปรับหลักสูตรและการเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งในที่ประชุมวันนี้มีการพูดถึงสาขาการบินหรือการซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่พอสมควร แต่ไฮไลท์ที่ออกมาเห็นว่าเรายังขาดอุปกรณ์หรือการจัดสรรอุปรกรณ์ที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนสาขานี้ ทั้งนี้รวมถึงสาขาอื่น ๆ ด้วยที่เราต้องการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศในแต่ละสาขา ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการ หรือ อาหารทำให้เราต้องไปพึ่งพาภาคเอกชน เพราะฉะนั้นตนมองว่าอุปกรณ์พื้นฐานจำเป็นต้องมีซึ่งคิดว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนได้ เพราะเราจำเป็นต้องจัดสรรเพื่อให้เด็กได้สัมผัสของจริงเหมาะสมกับการเรียนสายอาชีพที่ต้องลงมือปฏิบัติจริง ไม่ใช่เป็นเรื่องทฤษฎีอย่างเดียวซึ่งจะต้องนำมีการถกกันเพื่อแก้ปัญหาในอนาคต
“ตอนนี้วิทยาลัยรับทราบแนวทางและมีความเข้าใจแล้วว่าจะต้องยุบบางสาขา ซึ่งในอดีตอาจจะมีข้อกังวลหรือผูกติดกับค่ารายหัวนักเรียนที่ได้รับอยู่ แต่วันนี้ขอยืนยันว่าหากแต่ละจังหวัดมีโจทย์ที่ชัดเจนว่าต้องการขับเคลื่อนไปทางไหนก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารกระทรวงพี่ต้องหางบประมาณมาสร้างความเป็นเลิศให้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงค่ารายหัวที่ทำให้ต้องสร้างหลักสูตรขึ้นมาเพื่อหารายได้เข้าสถานศึกษา โดยความเข้มข้นหรือความเหมาะสมของบริบทในแต่ละจังหวัดอาจไม่มีความจำเป็นเพียงพอ เพราะฉะนั้นต่อไปบางสาขาอาจจะมีเพียงไม่กี่วิทยาลัยในประเทศก็พอ”นายณัฏฐพลกล่าวและว่า วันนี้วิทยาลัยต่างๆ เริ่มมีความเข้าใจ Excellence center มากขึ้น และเริ่มที่จะกล้าลดสาขาที่อาจจะไม่ตรงกับการเป็น Excellence center ลงแล้ว ซึ่งในระยะแรกอาจจะทำให้เสียรายได้จากค่าใช้จ่ายค่ารายหัวนักเรียนไปบ้างแต่ในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอนเพราะอุปกรณ์ครุภัณฑ์ต่างๆที่ลงไปจะทำให้เด็กสนใจมาเรียนมากขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจอีกระยะหนึ่ง