เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคล เข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2563 ซึ่งการสอบครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลง จากครั้งที่ผ่านมา โดย ในส่วนของการสอบภาค ก ความรู้ทั่วไป เป็นการที่ใช้ข้อสอบมาตรฐานเดียวกันการสอบของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ส่วนภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ก็เทียบเคียงกับมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา ขณะที่การสอบภาค ค ถือว่ามีการปรับเปลี่ยนมากที่สุด คือ จากเดิมที่เป็นการสัมภาษณ์อย่างเดียว ก็ได้มีการกำหนด ความเหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา โดยมีองค์ประกอบการประเมิน 3 ส่วน ได้แก่ คุณลักษณะส่วนบุคคล จากการสัมภาษณ์ 25 คะแนน การพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ประเมินจากแฟ้มสะสมงาน 25 คะแนน และส่วนที่สาม ความสามารถด้านการสอน 50 คะแนน ประเมินจากการสาธิตการสอน โดยมีการบันทึกภาพและเสียงในรูปแบบวิดีโอ ไว้เป็นหลักฐานด้วย
เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า จากการจัดสอบเพื่อคัดเลือกครูผู้ช่วยที่ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีการทำการวิจัยร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยสอบถามความคิดเห็นผู้เข้าสอบปฏิบัติการสอน จำนวน 10,376 คน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกินร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการสอบภาค ค รูปแบบใหม่ ซึ่ง ก.ค.ศ.จะนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่วิชาชีพครูให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้ครูที่เก่ง ดี มีคุณภาพตามนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) โดยจะต้องมีการปรับหลักสูตรการผลิตครู ซึ่งตนได้ประสานกับสภาคณะบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท.) เพื่อหารือแนวทางการปรับหลักสูตร เพื่อให้สามารถผลิตครูได้สอดคล้องกับการเรียนการสอนในโรงเรียน และการเรียนการสอนของสถาบันผลิตครูที่ต้องเน้นการฝึกปฏิบัติการสอนมากขึ้นโดยให้ฝึกต่อเนื่องตั้งแต่เรียนปี 1 เพื่อให้นักศึกษาจบแล้วสามารถสอนได้ทันทีโดยไม่ต้องฝึกปฏิบัติการสอนอีก
“นอกจากนี้ ก.ค.ศ. กำลังประสานกับ สพฐ. เพื่อขอข้อสอบภาค ก และ ภาค ข มาวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบ และความยากง่าย จุดใดที่มีผู้สอบผ่านมาก หรือน้อย เพื่อนำมาพัฒนาคลังข้อสอบต่อไป เนื่องจากนายณัฏฐพล ให้นโยบายว่า ในอนาคต ก.ค.ศ. อาจจะต้องพัฒนาเป็นศูนย์สอบคัดเลือกเอง เพื่อให้การสอบภาค ข สามารถสอบได้ทั้งปี ไม่จำเป็นต้องรอสอบพร้อมกันเป็นมหกรรม เหมือนที่ผ่านมา ดังนั้นต่อไปโรงเรียนไหนขาดครูก็สามารถไปสมัครและสอบภาค ค ที่โรงเรียนได้เลย ไม่ต้องรอสอบพร้อมกัน เพราะตั้งแต่ปี 2564 การสอบภาค ก เพื่อคัดเลือกครู จะให้ไปสอบกับ ก.พ. ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท สอบผ่านภาค ก ตามแนวทางของ ก.พ. ซึ่ง ศธ.ถือเป็นกระทรวงที่สองที่ดำเนินการ ต่อจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)