เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ดร. สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการหารือเรื่องการปรับโครงสร้างภายในสำนักงานปลัด ศธ. ซึ่งจะมีหน่วยงานสำคัญ 3 กรม คือ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้คัดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต ออกจากสารระบบการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีการเสนอความเห็นเข้ามาตามเวลาที่กำหนด โดยขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น ส่วนอีก 2 กรม คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา( ก.ค.ศ.) ยังไม่ได้มีการออกแบบหรือปรับองค์กรใหม่
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังหารือ เรื่องการกำหนดหน่วยงาน ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย แต่ยังไม่ได้กำหนดให้มาอยู่ภายใต้โครงสร้างสำนักงานปลัด ศธ.อย่างเป็นทางการ เช่น ศึกษาธิการภาค(ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่มีการจัดตั้งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกฎหมายรองรับ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และศูนย์บริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ หน่วยงานเหล่านี้ได้มีการกำหนดอัตรากำลังและจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดไว้ในโครงสร้างสำนักงานปลัด ศธ. จึงควรกำหนดไว้ในกฎกระทรวงให้ถูกต้อง อย่าง ศธภ.และ ศธจ. กำหนดกรอบอัตรากำลังอยู่ที่ 4,500 ตำแหน่ง บรรจุแต่งตั้งแล้ว ประมาณ 2,500 ตำแหน่ง บางจังหวัดมีบุคลากรทำงานเพียง 10 คน ทำให้เป็นปัญหาในเรื่องการทำงาน ดังนั้นจึงต้องเร่งบรรจุแต่งตั้งให้เพียงพอ ซึ่งต้องไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงบประมาณ เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับงบประมาณ”ดร.สุภัทรกล่าว และว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือการทำงานของสำนักบูรณาการกิจการการศึกษา ที่จากนี้ต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ในการสนับสนุนการทำงานของ ศธภ. และ ศธจ. ออกแบบโครงการเพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่นำไปปฏิบัติ เช่น นโยบายการควบรวม หรือยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งจะไม่ใช่การยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดโดยตรง แต่จะใช้การเพิ่มคุณภาพ โรงเรียนแม่เหล็ก เป็นโรงเรียนดีสี่มุมเมือง เพื่อดึงเด็กในพื้นที่เข้ามาเรียนให้มากที่สุด เป็นต้น