เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมมีมติยืนยันเรื่องการรับนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ปี การศึกษา 2564 โดยให้คงจำนวนนักเรียน 40 คนต่อห้อง แต่เนื่องจากบางพื้นที่มีความจำเป็นต้องรับเพิ่ม และ รมว.ศึกษาธิการก็เห็นว่า ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ปีการศึกษา 2564 สามารถรับเด็กเพิ่มได้ไม่เกิน 10%ของจำนวนที่ประกาศรับ แต่ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จากนั้นปี 2565 ให้เพิ่มได้ไม่เกิน 5% และในปี 2566 ให้ล็อกไว้ที่ห้องละ 40 คนเท่านั้นไม่มีการเพิ่ม
ประธาน กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต กับ ผลการประเมินคุณภาพสถานศึกษา ซึ่งพบว่า 2 ส่วนนี้ไม่มีความสัมพันธ์กันเลย เช่น หากผลการประเมินสถานศึกษาออกมาในระดับดีมาก ผลโอเน็ตก็น่าจะต้องดี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ที่ประชุมจึงเห็นว่า น่าจะต้องมีการทบทวน เรื่องของการประเมิน และ การทดสอบโอเน็ต ว่าเป็นแบบไหน อย่างไร เพราะผลของ 2 ส่วนนี้เมื่อออกมาแล้วต้องมีความสัมพันธ์
“ที่ประชุมยังได้หารือถึงการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่ในแผนอยู่แล้วและกำลังทำมาตรการบริหารจัดการ โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คน ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลชัดเจนแล้วว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการมีประมาณ 8,000 กว่าโรง โดยเป็นโรงเรียนที่อยู่ตามเกาะ แก่ง หรือ ในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องคงไว้ แต่ครูในโรงเรียนจะต้องมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสอนเด็กคละชั้น และมีโรงเรียนที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการแก้ไขกฎหมายที่เพื่อควบรวมหรือยุบรวมประมาณ 200 กว่าโรง”รศ.ดร.เอกชัยกล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีนโยบายส่งเสริมให้ครูทุกคนเข้ารับการอบรมเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน การช่วยฟื้นคืนชีพ กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่ชาติ(สพฉ.)ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในชั้นเรียน สามารถช่วยเหลือเด็กได้ แต่ปัจจุบันเราไม่มีครูที่มีความรู้เรื่องนี้เลย ดังนั้นจะเริ่มต้นสนับสนุนให้ครูเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์แล้วเก็บเป็นชั่วโมงพัฒนาครูได้