เมื่อวันที่ 6 ต.ค.63 ดร.สุภัทร จำปาทอง รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงบทบาทของศึกษาธิการภาค(ศธภ.)ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ว่า หน้าที่สำคัญของ ศธภ.และศธจ. คือการทำแผนบูรณาการการทำงานระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับภูมิภาค ซึ่งแผนดังกล่าวไม่ใช่แค่แผนพัฒนาการศึกษา ไม่ใช่แต่การจัดการศึกษาหรือเน้นอัตลักษณ์ของผู้เรียนอย่างเดียว แต่หมายถึงการจัดประสิทธิภาพการจัดการศึกษา ซึ่งรวมถึงการควบรวมหรือยุบเลิกโรงเรียนบางแห่งถ้าจำเป็น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการศึกษาจังหวัดที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยศธ.จะดำเนินการแต่งตั้งผู้เหมาะสมลงตำแหน่งให้ครบ ทั้งศธภ.และศธจ. รวมถึงทีมงานของทั้งสองตำแหน่ง เพื่อให้มีบุคลากรเพียงพอขับเคลื่อนการทำงาน
“ขณะนี้ศธจ. และทีมงานภายในของสำนักงานศธจ. เองก็ตั้งได้ไม่ครบ ตรงนี้ค่อนข้างหน้าห่วง เพราะงานหลายอย่างต้องไปฝากไว้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ยังไม่มีการวิเคราะห์เนื้องาน เพราะขาดบุคลากร ดังนั้นสิ่งที่จะทำจากนี้คือ ต้องจัดคนลงเพื่อรองรับการทำงานให้เพียงพอ ส่วนศธภ. ต้องรอฟังนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดิมกำหนดให้มีศธภ.ทั้งหมด 12 ตำแหน่ง ภายหลังมีแนวคิดว่าจะเหลือเพียง 6 ตำแหน่ง ทั้งนี้โดยส่วนตัวคิดว่าศธภ. ยังมีความจำเป็น”ดร.สุภัทร กล่าวและว่า จากนี้ต้องเร่งสรรหาเพื่อให้มีบุคลากรเข้ามาทำงานในส่วนนี้โดยเร็วที่สุด โดยศธจ. มีผู้ที่ผ่านการสรรหาขึ้นบัญชีและอยู่ระหว่างการอบรมแล้ว ประมาณ 30 ตำแหน่ง หากดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนแล้ว ก็จะเร่งแต่งตั้งโดยเร็วที่สุด ส่วนการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันของศธจ.ศธภ. และสพท. นั้น ก็ต้องมาดูว่างานในส่วนใดที่ซ้ำซ้อนบ้าง งานส่วนไหนจะเป็นหน้าที่ของศธจ.ศธภ.และเขตพื้นที่ฯ