เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนสารสาสน์วิเทศ ราชพฤกษ์ ว่า จริง ๆ แล้วมีการร้องเรียนมาก่อนหน้านี้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ก็ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว ทำให้ทราบว่ามีประเด็นที่มากกว่าการทำร้ายร่างกายเด็ก หลัก ๆ ใน 3 เรื่อง คือ การผิดระเบียบศธ. ในเรื่องการลงโทษนักเรียน ที่เกินกว่าเหตุ กรณีพี่เลี้ยงเด็ก มาทำหน้าที่ในการสอน ทั้งที่ไม่มีหน้าที่สอน และเรื่องค่าใช้จ่ายที่เก็บไม่ถูกต้องตามที่ขออนุญาตไว้ ดังนั้นตนจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิดและหาทางแก้ไขให้เป็นไปตามระเบียบที่ถูกต้อง สำหรับเรื่องการสั่งปิดโรงเรียนไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวรนั้น ต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้มีแค่นักเรียนที่ถูกกระทำ ยังมีนักเรียนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอีก ดังนั้นอาจต้องพิจารณาในแนวทางอื่น เช่น การตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้
นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ทันทีที่ทราบข่าวคุรุภาได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลแล้ว โดยเฉพาะการจ้างพี่เลี้ยง ว่า จ้างมาปฏิบัติหน้าที่สอน หรือจ้างมาทำหน้าที่อื่นแต่มาทำหน้าที่สอนด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ข้อมูลมาระดับหนึ่ง และ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยในวันที่ 30 กันยายน คณะสอบสวนฯจะลงพื้นที่ เพื่อหารายละเอียดเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 วัน หากพบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่สอน โดยไม่มีใบอนุญาตฯ ทางคุรุสภา ก็จะต้องดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ตามพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งกรณีนี้ถือว่า มีความผิดทั้ง ผู้ที่มาทำหน้าที่สอนโดยไม่มีใบอนุญาต ฯและโรงเรียน ที่ปล่อยให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯ ไปปฏิบัติหน้าที่สอน ซึ่งมีโทษทั้งจำคุก 3 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท อย่างไรก็ตามการตรวจสอบจะเริ่มจากครู 4 คน ที่ทำร้ายร่างกายเด็กก่อน แล้วจะขยายผลตรวจสอบทั้งโรงเรียน ซึ่งกรณีนี้ จะเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่น ๆ ที่จ้างครูมาผิด ต้องปรับตัวและแก้ไข ก่อนถูกสุ่มตรวจ เพราะหากพบก็จะมีผลทางกฎหมาย
“ส่วนกรณีครูต่างชาติ ที่ถือวีซ่านักท่องเที่ยว แต่มาปฏิบัติการสอน นั้นถือว่า โรงเรียนมีความผิดเช่นกัน เพราะการจ้างครูต่างชาติเข้ามาสอน จะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาจากประเทศต้นทาง เมื่อเข้ามาสอนในประเทศไทย ต้องผ่านการอบรม เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชีพครูจากคุรุสภา หากไม่ผ่านการอบรมต้องมีหนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ดังนั้นจะให้นักท่องเที่ยวมาทำหน้าที่สอนไม่ได้ ที่ผ่านมาคุรุสภา เคยมีการสุ่มตรวจในโรงเรียนต่าง ๆ แต่กำลังคนมีไม่เพียงพอ เพราะโรงเรียนเอกชนมีจำนวนมาก ดังนั้นมาตรการต่อไปจะประสานกับต้นสังกัด ทั้ง สช. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อสุ่มตรวจสอบให้มากขึ้น เพื่อใช้กฎหมายให้มีความรวดเร็วและมีความศักดิ์สิทธิ์”เลขาธิการคุรุสภากล่าว