เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563  รศ.ดร.เอกชัย  กี่สุขพันธ์  ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า  ในการประชุม กมว. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับทราบและเห็นชอบในหลักการ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู  ซึ่งจะมาใช้แทนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต  ตามที่คณะอนุกรรมการปรับปรุงประสิทธิภาพหลักสูตร ป.บัณฑิต เสนอ   โดยหลังจากนี้สำนักมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา จะไปจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอให้ กมว. พิจารณา จากนั้นจะไปจัดทำร่างประกาศเพื่อเสนอคณะกรรมการคุรุสภาให้ความเห็นชอบต่อไป

ประธาน กมว. กล่าวว่า  สำหรับแนวทางเบื้องต้นของหลักสูตรดังกล่าว จะกำหนดให้เรียนวิชาครู 34 หน่วยกิต  ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.)2  แบ่งเป็น การเรียนวิชาบังคับหรือวิชาพื้นฐาน 22 หน่วยกิต  ปฏิบัติการสอน 12 หน่วยกิต  โดยคนที่จะมีสิทธิเรียนในหลักสูตรนี้ ได้แก่  กลุ่มที่จบปริญญาตรีแล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และกำลังสอนอยู่ในโรงเรียนเอกชน   กลุ่มที่สองคนที่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว แต่ยังไม่ได้เรียนวิชาครู  กลุ่มที่สามคือ คนที่กำลังเรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ปี 2-ปี4  และคนที่ไม่ได้เรียนสายครู   และกลุ่มที่สี่ คือ นักเรียนชั้น ม.ปลายที่ต้องการมาเรียนเพื่อเก็บหน่วยกิต

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า  สำหรับมหาวิทยาลัยที่จะเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูได้ จะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งต่างจากที่ผ่านมา ที่ทุกมหาวิทยาลัยสามารถเปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิตได้  ซึ่งก็ยอกรับว่าหลักการนี้ทำให้เกิดการต่อต้านบ้าง เพราะเป็นปัญหาเรื่องการหารายได้จากการเปิดสอนหลักสูตรป.บัณฑิต  อย่างไรก็ตามหลักสูตรใหม่นี้ ต้องการเน้นให้คนที่ไม่ได้เรียนครูเข้ามาเรียน  โดยจะต้องผ่านกระบวนการสร้างความเป็นครูอย่างเข้มข้นเหมือนได้เรียนในสายครู ระดับปริญญาตรี  4 ปี หรือ 5 ปี ยึดหลักว่า ให้เรียนก่อน จากนั้นจึงไปสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯให้ได้ ก่อนที่จะไปสอนจริง ต่างจากป.บัณฑิตที่ให้ไปสอนก่อน แล้วค่อยมาขอรับใบอนุญาตฯ

“นอกจากนี้ที่ประชุม กมว. ยังพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณครู โดยมีมติเพิกถอนใบอนุญาตฯ 2 ราย  กรณีครูทำร้ายเด็กเกินกว่าเหตุ  โดยรายหนึ่งเลื่อนใบหูเด็ก อีกรายตบเด็ก  ทั้งนี้ผมได้ย้ำในที่ประชุมว่า หากเกิดเหตุครูทำร้ายเด็กอีก ต้องดำเนินการลงโทษด้วยความรวดเร็วพักใบอนุญาตฯ ทันที  และก่อนที่จะมาต่อใบอนุญาตฯครั้งต่อไปจะต้องมีการทดสอบสุขภาพจิตก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า คนคนนั้นไม่มีความผิดปกติ  สามารถเป็นครูได้จริง”รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments