นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน(ส.ปส.กช.)เปิดเผยว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทำให้สถานศึกษาของรัฐทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และอีกหลายหน่วยงานต้องขยายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็กตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 และขยายจำนวนเพิ่มขึ้นในปีการศึกษา 2561 ซึ่งเรื่องนี้ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 แล้ว คือ จำนวนนักเรียนชั้นก่อนประถมศึกษาของโรงเรียนเอกชนลดลง เพราะเด็กย้ายไปเรียนในโรงเรียนรัฐเนื่องจากเป็นการเรียนฟรี และที่สำคัญ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้รับข้อมูลใหม่ว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท.หลายแห่งได้ขึ้นประกาศรับเด็กอายุ 1.5 – 3 ขวบ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเช่นกัน ซึ่งยิ่งทำให้เกิดผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนมากขึ้น
นายก ส.ปส.กช.กล่าวว่า จากที่โรงเรียนเอกชนมีเด็กลดลงอยู่แล้ว การที่ศูนย์ฯเด็กเล็กเปิดรับเด็กอายุต่ำลงไปอีก โดยเป็นการเรียนฟรีด้วย เด็กก็ยิ่งไม่มาโรงเรียนเอกชน และยังทราบอีกว่า รัฐยังได้จัดเงินอุดหนุนสำหรับเด็กอายุ 2 ขวบในศูนย์ฯเด็กเล็กหัวละ 1,700 บาทต่อปีด้วย ประเด็นนี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำเพราะเด็กอายุ 2 ขวบที่อยู่ในความดูแลของโรงเรียนสังกัด สพฐ.และโรงเรียนเอกชนไม่ได้รับเงินสนับสนุนนี้ นอกจากนี้ยังพบว่า มีประเด็นเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารเสริม(นม)เด็กของรัฐทั้งศูนย์ฯเด็กเล็ก และ สพฐ.ได้หัวละ 7.37 บาท ขณะที่เด็กเอกชนได้ 7 บาท ซึ่งก็อยากถามว่า 37 สตางค์ของเด็กเอกชนหายไปไหน อีกทั้งเงินอุดหนุนสำหรับอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน ป.1-6 หัวละ 20 บาท ก็มีความเหลื่อมล้ำเช่นกัน โดยเด็กของรัฐทุกสังกัดที่อยู่ในโครงการอาหารกลางวันจะได้รับทุกคนทั้ง 100% แต่โรงเรียนเอกชนจะได้เพียง 28% ของจำนวนนักเรียนเท่านั้น ทำให้โรงเรียนต้องไปเก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครอง
“ทราบว่า ทั้ง 3 ประเด็นมีการปฏิบัติมานานแล้ว แต่ผมเพิ่งได้ข้อมูลที่ชัดเจน และได้เข้าพบและหารือกับอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)แล้ว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เนื่องจากเด็กทุกคนเป็นเด็กไทยเหมือนกันก็ต้องได้รับโอกาสเหมือนกัน”นายศุภเสฏฐ์