เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2563 ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …ว่า ในการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษาต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากที่ได้พิจารณารายงานข้อมูลการรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …ฉบับที่ยกร่างโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) ซึ่งสรุปจากการประชุม 5 ครั้งแล้ว ยังไม่พร้อมเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดย รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมบางสาระ และมีประเด็นใหม่เพิ่มเติม จึงควรให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) นำประเด็นหารือเพิ่มเติมไปรับฟังความคิดเห็นเพิ่มอีก เช่น เน้นการส่งเสริมการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้ชัดเจน ,มาตรการดำเนินการจัดการศึกษาในภาวะวิกฤต โควิด-19 , การสร้างช่องทางรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียน หรือ การกำหนดบทบาทภารกิจใหม่ขององค์กรในกำกับ เป็นต้น
เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า และเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ สกศ.นำร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. …. ไปจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เพิ่มในประเด็นใหม่ ๆ โดยให้จัดทำคู่ขนานกัน เนื่องจากภารกิจจัดการศึกษามีทั้งความทับซ้อนกันและการผสมผสานกัน จึงต้องออกแบบระบบการให้บริการการศึกษาและการเรียนรู้ให้ส่งเสริมเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง โดย รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2563 ซึ่ง สกศ.ได้วางแผนดำเนินการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ครั้งที่ 1 ประมาณกลางเดือนสิงหาคม เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสะท้อนความเห็นกลับมาผ่านระบบออนไลน์ก่อนที่จะมีการประชุม ครั้งที่ 2 ในต้นเดือนตุลาคม โดยการรับฟังความเห็นควรเป็นมีทั้งความเห็นจากส่วนกลางและต่างจังหวัด ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลความคิดเห็นที่ตกผลึกเรียบร้อย ก็อาจจะสรุปข้อมูลรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษาช่วงปลายเดือนตุลาคม และเสนอรายงานความคิดเห็นเพิ่มประกอบการพิจารณาต่อ รมว.ศึกษาธิการ ในต้นเดือนพฤศจิกายนต่อไป
“จริง ๆ แล้ว ในปี 2562 สกศ.เคยจัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. มาแล้ว 5 ครั้ง โดยเป็น Public Hearing 2 ครั้ง ซึ่งภาพรวมของการรับฟังความเห็นมี ประเด็นที่ไม่เห็นด้วย 9 เรื่อง โดยประเด็นหลัก ๆ ที่ส่วนมากไม่เห็นด้วยและมีข้อกังวล เช่น การเปลี่ยน ชื่อผู้อำนวยการเป็นครูใหญ่ การเปลี่ยนชื่อใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู หรือ บุคลากรบางตำแหน่ง ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพก็ได้ เป็นต้น โดยมองว่าเป็นการลดศักดิ์ศรี วิทยฐานะของตำแหน่ง และสถานะผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อเงินวิทยฐานะด้วย” ดร.สุภัทรกล่าวและว่า ดังนั้น การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะจัดเพิ่มอย่างน้อย 2 ครั้ง นี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติม และแสดงความคิดเห็นเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยได้ ทั้งประเด็นเดิมและประเด็นหารือใหม่ หรือจะเสนอผ่านระบบออนไลน์ก็ได้
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบวิทยฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพครู สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ได้มีการพัฒนา ปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะ และการส่งเสริมศักยภาพครูให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของครูและนักเรียนอย่างรอบด้านแล้ว ดังนั้นโดยสรุปขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….และ ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. … ยังคงอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ และต้องรับฟังความคิดเห็นเพิ่มอีกหลายประเด็นซึ่งคงใช้เวลาเกินกว่า 2 เดือน อีกทั้งขั้นตอนปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ เพราะตามกระบวนการหลังจากจัด Public Hearing แล้ว ต้องสรุปรายงานการรับฟังความคิดเห็นต่อ รมว.ศึกษาธิการ จากนั้นต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายและด้านนิติบัญญัติต่อไป