เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมสนามสอบนักเรียน ชั้น ม.4 ที่โรงเรียนสิงห์สมุทร จังหวัดชลบุรี และ โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา จังหวัดระยอง โดย นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสอบคัดเลือกนักเรียนระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ในวันที่ 6-7 มิ.ย. ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมสนามสอบนักเรียนชั้น ม.4 วันนี้ พบว่า มีความพร้อมในการจัดเตรียมสถานที่ และดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)อย่างเคร่งครัด และจากการพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนและครู เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน วันที่ 1 ก.ค. ทราบว่า สถานศึกษามีแนวทางที่จะปรับการจัดการเรียนการสอนวิชาที่ต้องทำกิจกรรมตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ซึ่งต้องขอเป็นกำลังใจและชื่นชมครูทุกคนที่ปรับตัว และปรับวิธีการสอนตามสถานการณ์ปัจจุบัน ขอให้ร่วมมือร่วมใจกันจัดการเรียนการสอนในสภาวะวิกฤต ตลอดจนปรับตัวสู่การจัดการศึกษาในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ New Normal ไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามจากการตรวจเยี่ยมสนามสอบ 2 วันนี้ ทำให้เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการจะต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เพื่อลดภาระของผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในเมืองด้วย
วันเดียวกันนี้ นายณัฏฐพล ยังได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Nataphol Teepsuwan – ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ว่า “วันนี้ลงพื้นที่อีกวัน ตรวจสนามสอบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสิงห์สมุทร จ.ชลบุรี เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่มีความพร้อมในการเตรียมการต่างๆได้ดีโดยจัดการสอบในโรงยิมแทนการสอบในห้องเรียน ซึ่งทำให้มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดไว้ได้ดี ได้เห็นความตื่นเต้นของเด็กนักเรียน ทำให้เห็นว่าการศึกษาจะต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันให้ได้ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความกดดัน และลดภาระของผู้ปกครอง
นอกจากนั้น ยังได้พูดคุยกับครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน สำหรับความพร้อมในวันเปิดภาคเรียนวันที่ 1กรกฎาคม นี้ ถึงจะยังมีความกังวลอยู่บ้างในเรื่องของสาระการเรียนรู้และกิจกรรม โดยมีการปรับสาระการเรียนรู้หลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ที่ต้องใช้การผสมผสานการเรียนแบบในห้องเรียนและการเรียนแบบออนไลน์ แต่ที่เหลือดูมีความพร้อมและมั่นใจดี
ขอเป็นกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่ตั้งใจในการเตรียมการเรียนการสอน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่น่ายินดี จากการพูดคุยกับครูพบว่า บางคนไม่เคยใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนมาก่อน แต่ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้โดยได้รับความช่วยจากเพื่อนครู
นี่จะเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ที่แม้ผ่านช่วงวิกฤตโควิดไปแล้ว ก็ยังนำมาใช้ต่อ
ยอดต่อไปได้ เพื่อให้เด็กได้รับสาระความรู้มากที่สุด
#อนาคตเด็กไทยคืออนาคตของประเทศ”