เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2563 นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กมว. วันนี้ ได้มีการหารือกรณีครูและผู้อำนวยการสถานศึกษา ทำอนาจารล่วงละเมิดทางเพศเด็ก โดยมีมติตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครู 6 ราย และผู้อำนวยการโรงเรียน 1 ราย แบ่งเป็น กรณีครู 5 ราย ในจังหวัดมุกดาหาร ทำอนาจารเด็กนักเรียนชั้น ม. 2 และ ม.4 ซึ่งจากข้อมูลเชื่อได้ว่า มีการประพฤติที่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ กมว.จึงมีมติตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้ง 5 ราย เป็นเวลา 60 วัน เพื่อดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนกรณีผู้บริหารสถานศึกษา ในฐานะผู้บังคับบัญชา จะมีความผิดด้วยหรือไม่นั้น ทราบว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต้นสังกัดให้ความสำคัญ กรณีที่รับรู้แต่ไม่ดำเนินการแก้ไขก็คงต้องมีส่วนรับผิดชอบ ส่วนจะรับผิดชอบระดับใดขึ้นอยู่กับ สพท.
นายเอกชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับที่กรณีเพื่อนครูออกมาให้กำลังผู้ที่ประพฤติผิด นั้น ไม่เข้าข่ายการประพฤติผิดจรรยาบรรณ แต่ที่ประชุมมองว่า ผู้ที่ประกอบวิชาชีพครูควรแสดงออกถึงกาลเทศะที่เหมาะสม และคำนึงถึงความเป็นครู เพราะฉะนั้น กมว.จะมีบันทึกไปถึงครูคนดังกล่าว ขอให้ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น ที่ต้องคำนึงถึงความเป็นครู และกาลเทศะที่เหมาะสม ส่วนครูอีก 1 ราย เป็นกรณี ที่ถูกกล่าวโทษว่า มีพฤติกรรมเชิงชู้สาวกับนักเรียนหญิง ชั้น ม.5 โดยมีการพูดคุยเชิงชู้สาวผ่านแอพพลิเคชันไลน์ สำหรับกรณีผู้อำนวยการโรงเรียน ใน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ทำอนาจารเด็กนักเรียนหญิงด้วยการล้วงมือเข้าไปในเสื้อของเด็ก เพื่อจับหน้าอก ก็ถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพักใช้ใบอนุญาตฯ 60 วันเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้หากผลสอบพบว่ามีความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา ก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ และจะขึ้นแบล็กลิสต์ไม่สามารถกลับมาเป็นครูได้อีก
ด้านนางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า การสอบสวนกรณีทำอนาจารเด็กที่มุกดาหาร ต้องสอบถามผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยว่า รับทราบเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ หากรับทราบ แล้วไม่ดำเนินการ ก็คงต้องตั้งกรรมการสอบสวนต่อไป หากไม่รับทราบคงเป็นลักษณะการตักเตือนการทำหน้าที่ผู้บริหาร ส่วนครูที่ออกมาแสดงความเห็น คุรุสภา จะมีหนังสือทำความเข้าใจ ถือเป็นการส่งสัญญาณไปยังครูและผู้บริหารทั่วประเทศ ให้ระมัดระวัง ในการแสดงความคิดเห็นนึกถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับลูกศิษย์ โดยที่ประชุมเน้นถึงคำว่า กาลเทศะ เพราะไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะมาแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ กรณีผู้อำนวยการโรงเรียน การกำกับดูแลครู ถือเป็นภารกิจหนึ่งในจรรยาบรรณวิชาชีพ คุรุสภาคงต้องหารือกับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อหามาตรการ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนกวดขัน ดูแลครูและนักเรียนให้มากขึ้นกว่าสมัยก่อน เพราะบริบทสังคม และสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ฉะนั้นบางเรื่องอาจมีความล่อแหลมมากกว่า เดิม ดังนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนในฐานะผู้บังคับบัญชา ควรจะต้องมีการบริหารจัดการที่ชัดเจนมากกว่าเดิม