เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่เกิดจากรวมตัวของหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ โควตารัฐมนตรีที่มีอยู่ 3 คน ก็มาจาก 3 พรรคการเมือง คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย โดยพรรคพลังประชารัฐได้โควตารัฐมนตรีว่าการ ตามด้วยพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยตามลำดับ ซึ่งรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ทำงานที่ตนถนัดและตามนโยบายของพรรคได้ประมาณ 7-8 เดือน ก็เริ่มเกิดการระบาดของเชื้อโรคโคโรนา2019 หรือ โควิด 19 จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
กระทั่งราว ๆ กลางเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดของโควิด 19 หนักขึ้นและกระจายไปทั่วโลก ประกอบกับเป็นช่วงของการปิดภาคเรียนของประเทศไทย ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ออกไป จากวันเปิดภาคเรียนปกติวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฏาคม โดยระหว่างการเปิดภาคเรียนนี้ได้มีการเตรียมรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับเหตุจำเป็นหากยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่สถานศึกษาได้ โดยมีทั้งการเรียนผ่านระบบการศึกษาทางไกล และการเรียนออนไลน์
และแว่วมาว่า รัฐมนตรีบางท่านที่มาจากพรรคการเมืองหนึ่งจะมีนโยบายให้เรียนออนไลน์100% ผู้เขียนจึงขอนำความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาที่จะต้องนำนโยบายนี้นำไปปฏิบัติ มาฟังกันค่ะ
นายพิศณุ ศรีพล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบ ธนบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) กรุงเทพมหานคร เขต 1 กล่าวว่า ในความคิดของผมก่อนที่จะตัดสินใจเรียนออนไลน์หรือไม่ ควรให้ผู้ปกครองและผู้เรียนเป็นคนตัดสินใจ ไม่ใช่โรงเรียนตัดสินใจแทน และในการตัดสินใจจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ด้วย เช่น 1.มาตรการของโรงเรียนที่จะรับมือทางด้านสาธารณสุข ซึ่งผู้ปกครองจะต้องรับรู้ด้วย 2. รับฟังมาตรการที่ผู้ปกครอง เสนอเพิ่มเติม ถ้าโรงเรียนทำได้หรือไม่ได้แค่ไหน แล้วให้ผู้ปกครองตัดสินใจว่าจะให้เรียนแบบเดิม หรือ ออนไลน์ 3.ต้องให้ข้อมูลว่า โรงเรียนพร้อมจะจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบวิธีการใด แต่โรงเรียนก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้ 2 รูปแบบ คือ ทั้งแบบเรียนในห้องเรียนปกติ และ การสอนออนไลน์
ดร.อัครเดช ยมภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเชียงของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)เชียงราย เขต 4 กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนอนุบาลเชียงของ คงไม่พร้อม หากต้องสอนออนไลน์100% เนื่องจากนักเรียนในเขตบริการของโรงเรียน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ค่อนข้างกว้าง มีจำนวนนักเรียนกว่า 1,000 คน ซึ่งเด็กก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงม.ต้น หากจะต้องจัดสอนออนไลน์ โรงเรียนจะพิจารณาตามความเหมาะสมตามความพร้อมของเด็ก ทั้งระบบออนไลน์ ออนแอร์ และแอพพลิเคชั่น ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่ที่รู้สึกเป็นห่วงมากที่สุดคือชั้นอนุบาล เพราะระดับปฐมวัย เป็นวัยที่จะต้องเรียนปนเล่น อีกทั้งความพร้อมของผู้ปกครองก็อาจจะมีน้อย และหากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลาย ผู้ปกครองออกไปทำงาน เด็กก็จะถูกทิ้งไว้กับปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งก็คงจะยากที่จะให้มาดูแล และทำกิจกรรมกับเด็กตามที่ครูกำหนดมาได้ ดังนั้นโรงเรียนก็ต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย และอาจต้องส่งครูไปพูดคุยกับผู้ปกครองและเด็ก
“การเรียนการสอนออนไลน์100%ไม่เหมาะกับที่นี่ แต่การจัดกิจกรรมอย่างไรให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มไหน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของเด็ก ๆ เรื่องไฟฟ้าไม่มีปัญหา แต่สัญญาณอินเตอร์เน็ต อุปกรณืการรับสัมญญาณ ทีวี สมาร์ททีวี สมาร์ทโฟน เพื่อการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้คือปัญหา อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โรงเรียนได้รวบรวมความพร้อมของเด็กไว้ครบทุกคนแล้ว และในวันที่ 12 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมกับครู เพื่อออกแบบวางแผนการจัดการเรียนการสอน ลักษณะต่าง ๆ ของแต่ละระดับชั้น ว่าจะออกมาในรูปแบบใด อีกทั้งเวลานี้ครูต่างชาติที่มีอยู่ ก็ได้เตรียมความพร้อมในการทำบทเรียนสำเร็จรูปเพื่อใช้ออนแอร์ตามตารางที่กำหนดไว้แล้ว”ผอ.โรงเรียนอนุบาลเชียงของ กล่าวและว่า ทุกโรงเรียนมีความแตกต่าง ซึ่งทางอนุบาลเชียงของจะไม่ใช้ออนไลน์ทั้ง100% แต่จะใช้การเรียนการสอนและรูปแบบตามความพร้อมของผู้เรียนเป็นสำคัญ
นายวสันต์ วงศ์ปัญญาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพะเยา กล่าวว่า ถ้าจะให้จัดการเรียนสอนออนไลน์ 100% โรงเรียนอนุบาลพะเยา สามารถดำเนินการได้ เพราะเราได้มีการทดลองจัดมาแล้ว 1 ปี ซึ่งก็ยอมรับว่ามีปัญหาบ้าง แต่ก็ได้ปรับปรุงพัฒนามาเรื่อย ๆ วันนี้ถือว่ามีความพร้อม ถ้ายังไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ และต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ 100% ก็สามารถทำได้ทุกระดับชั้น