เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2563 ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)ถึงหลักเกณฑ์การสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2563 ซึ่งขณะนี้ว่างอยู่ประมาณกว่า 9,000 อัตรา ทุกสาขาวิชาเอก ซึ่งปีนี้จะมีการปรับวิธีการสอบภาค ก มาใช้แนวทางการสอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( ก.พ.) โดยการสอบภาค ก.และภาค ข.ส่วนกลางจะเป็นผู้ออกข้อสอบ และให้มีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการประเมินภาค ก และภาค ข เป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค เป็นระยะเวลา 2 ปี ส่วนการประเมิน ภาค ค ให้ประเมินความเหมาะสมจากการสอบสัมภาษณ์ การสอบปฏิบัติการสอน โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวร่วมกัน
“ปีนี้ สพฐ.จะเป็นผู้ออกข้อสอบตามมติหลักเกณฑ์ก.ค.ศ.กำหนดอีกครั้ง หลังจากที่ได้มอบอำนาจให้ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละแห่งดำเนินการสอบเอง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่มติก.ค.ศ.กลับไป กลับมา แต่เป็นมติของก.ค.ศ. ที่วางไว้ในอนาคตว่าต่อไปจะต้องใช้ข้อสอบก.พ. ในการสอบครูผู้ช่วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับทางก.พ. ดังนั้นระหว่างรอยต่อจึงให้สพฐ. กลับมาออกข้อสอบไปก่อน ซึ่งส่วนตัวไม่กังวลเรื่องปัญหาการทุจริต หรือข้อสอบรั่ว เพราะเราไม่คิดจะทำ และตั้งใจจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม และจะไม่มีข้อสอบรั่วจากส่วนกลางดังเช่นในอดีต ส่วนจะออกข้อสอบเอง หรือให้สถาบันออกข้อสอบ หรือมหาวิทยาลัยออกนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติ”ดร.อำนาจ กล่าวและว่า ทั้งนี้เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ดังนั้นการจัดทำหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน เพราะต้องทำให้รัดกุมที่สุด โดยเฉพาะการประเมินภาค ค ทีใช้พอร์ตโฟริโอ และประเมินการฝึกปฏิบัติการสอน ไม่ให้เกิดข้อครหา ว่าเป็นเรื่องที่ใช้ความรู้สึกตัดสิน