เมื่อวันที่2 เม.ย.2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ กรณีที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดสอนตามปกติได้ ว่า ตอนนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ไปดำเนินการ โดยเบื้องต้นจะแบ่งนักเรียนออกเป็น2 ส่วน คือระดับปฐมวัย จนถึงระดับประถมศึกษา จะเรียนกับทีวี เพราะเด็กไม่มีความสามารถและอุปกรณ์ที่จะเรียนทางออนไลน์ ซึ่งตนได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เพื่อขอช่องทีวีดิจิทัลมา 7 ช่อง เพื่อมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับกลุ่มนักเรียนดังกล่าว ส่วนนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จะต้องมีอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งศธ.มีความจำเป็นต้องโยกงบประมาณภายในกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ งบลงทุนที่จะมาซ่อมแซมอาคารตึก ซึ่งยังไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในขณะนี้ มาลงทุนเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนสื่อเทคโนโลยีให้กับเด็กก่อน เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน
“ในภาระวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 ตอนนี้ ศธ.จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เราจะได้รู้ด้วยว่ามาตรฐานการเรียนรู้ของนักเรียนทั่วประเทศเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามผมยอมรับว่าการนำเทคโนโลยีมาช่วยนั้น ไม่สามารถทดแทนการสอนของครูได้ แต่ในขณะที่ประเทศเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และครูก็ไม่สามารถสอนเด็กในห้องเรียนได้ด้วยตัวเอง แต่ที่ผมเป็นห่วงคือเรื่องการควบรวมโรงเรียน เช่นโรงเรียนที่มีครูอยู่ 3 คน อาจจะต้องเอาครูมารวมกัน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการฝึกอบรมการสอนออนไลน์ร่วมกัน”นายณัฏฐพลกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีคนกังวลว่าเครื่องมืออุปกรณ์ที่รัฐลงทุนไปเมื่อปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสผ่านพ้นไปจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ ตนมีแผนที่จะสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้วในแผนการใช้งบประมาณปี2565 อยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงจำเป็นต้องดึงงบนี้มาใช้ก่อน