ผศ. ดร.รัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ(สครภ) กล่าวว่า จากประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เรื่อง มาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19) ฉบับที่ 3 การปฏิบัติการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้สถาบันอุดมศึกษาหยุดการดำเนินการเรียนการสอนทุกรูปแบบ และให้ปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์(Online Learning) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 นั้น ขณะที่หลายสถาบันได้ออกประกาศ และมีการเตรียมการให้คำแนะนำ อบรมผู้สอนด้านการใช้เทคโนโลยี เพื่อใช้ในการสอนแบบออนไลน์ แต่ก็ยังไม่พบหรือแทบไม่มีสถาบันไหนที่มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับนักศึกษาถึงรูปแบบแนวทาง การปฏิบัติตนในการเรียนออนไลน์ รวมถึงการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ เครือข่ายในการเข้าถึงช่องทางการเรียนออนไลน์ของนักศึกษา

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวต่อไปว่า แม้แต่ทาง อว.ก็ไม่ได้เตรียมการที่จะสนับสนุนการเรียนการสอนแบบออนไลน์เลย ทั้งที่โดยหลักการแล้วการนำเทคโนโลยีมาใช้จะสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ด้าน คือ 1.ด้านองค์การหมายถึงโครงสร้าง ระบบการทำงาน คน วัฒนธรรม โดยเฉพาะในส่วนของอาจารย์นั้นมีความเข้าใจเกี่ยวกับการสอนออนไลน์ดีแค่ไหน ซึ่งหลายคนคิดว่าการสอนออนไลน์คือสั่งงานผ่านกลุ่มไลน์แล้วส่งงานผ่านไลน์ ขณะที่ตัวนักศึกษานั้นมีทัศนคติ วินัย ความรับผิดชอบต่อการเรียนแบบออนไลน์มีมากน้อยแค่ไหน 2.ด้านการจัดการ สถาบันได้ให้อาจารย์วางแผนเตรียมการ จัดทำแผนการสอนแบบออนไลน์หรือยัง และแผนนี้จะต้องส่งให้นักศึกษาล่วงหน้าด้วย และ3.ด้านเทคโนโลยีที่ต้องเตรียมการทั้งในส่วนของอาจารย์และนักศึกษา

“ สถาบันส่วนใหญ่เตรียมการเฉพาะในส่วนของอาจารย์ แต่ในส่วนของนักศึกษาแทบไม่ได้พูดเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ใช้ ซึ่งอาจจะต้องมีชี้แจง การอบรมการใช้งานให้แก่นักศึกษาด้วย โดยเฉพาะในส่วนของเครือข่ายซึ่งค่าใช้จ่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ตกเป็นภาระของนักศึกษา สถาบันหรืออว.จะมีการสนับสนุนอย่างไร ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการเรียนออนไลน์ประสบผลสำเร็จ” ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments