เมื่อวันที่ 2 ก.พ.63 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของศธ. ในภูมิภาค ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตัดโอนอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การสอน ตำแหน่งครู ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปกำหนดเป็นตำแหน่งครูผู้ช่วย จำนวน 1,843 อัตรา แบ่งเป็น สังกัดสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 1,023 อัตรา และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา( สอศ.) 820 อัตรา ทั้งนี้ที่ประชุมได้ย้ำเรื่องการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ให้กลุ่มโรงเรียนมีความสามารถเป็นนิติบุคคล ตลอดจนเรื่องการรับครูซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคือให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพดีใกล้เคียงกัน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ย้ำถึง เรื่องการจัดสรรบุคลากรให้โรงเรียนขนาดเล็ก ที่อยู่ห่างไกล กว่า 5,000 โรงเรียน ซึ่งจะต้องจัดสรรบุคลากรให้มีความพร้อมตรงกับความต้องการของโรงเรียน โดยให้จัดสรรให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2563 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งขณะนี้สพฐ. มีข้อมูลอยู่แล้ว เหลือเพียงสำรวจความต้องการของโรงเรียนแต่ละแห่ง เพื่อไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ โดยจะมีการหารือกับผู้บริหารองค์การหลักของศธ. เพื่อพิจารณาแนวทางการทำงาน ให้เห็นภาพการบริหารจัดการ ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
ด้านนายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกศธ. กล่าวว่า สาเหตุที่มีการเกลี่ยอัตรากำลังจากสพฐ.ไปกศน.และสอศ. ครั้งนี้ เพราะทั้งสองหน่วยงานมีปัญหาขาดแคลนครู โดยสอศ.ขาดแคลนครูประมาณ 20,000 อัตรา กศน. ขาดประมาณ 7,000 อัตรา แต่ปีงบประมาณ 2562 มีอัตราว่างรองรับได้เพียง1,843 อัตรา จึงเกลี่ยได้เท่านี้ และในอนาคตก็จะจัดสรรอัตราให้ต่อไป