เมื่อวันที่12ก.พ.63 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีถามถึงการให้ความรู้นักเรียนวิธีการเอาตัวรอดหนีตายในภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจากเหตุความรุนแรง หรือจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์กราดยิงประชาชนที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า จริงๆแล้วเรื่องความรุนแรงได้เผยแพร่อยู่ในโลกโซเชียลบ่อยๆไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่น ๆ ซึ่งลุกลามไปทั่วโลกมีการเลียนแบบ ซึ่งก็เหมือนโรคระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นโรงเรียนจะต้องหันกลับมาดูแนวทางการสอนเพื่อให้เด็กมีความเข้าใจ
“ตอนที่ตัวแทนสภานักเรียนได้มาพบผมก็เคยพูดเรื่องบูลลี่ ไม่อยากให้มีบูลลี่ในโรงเรียน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นพื้นฐานก็มาจากการบูลลี่ส่วนหนึ่ง เพียงแต่ว่าจะเป็นการบูลลี่เรื่องการเงินหรืออะไรก็แล้วแต่ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้เราจะต้องค่อยๆผสมผสานเข้าไปในหลักสูตร แต่เราก็ไม่ต้องตื่นเต้นเกินเหตุ ให้คิดว่าเราได้รับบทเรียนมาแล้วควรต้องเตรียมอะไรรับมือบ้าง เพราะในอนาคตอาจมีเรื่องอื่นที่รุนแรงมากกว่านี้ ซึ่งเราอาจนึกไม่ถึง”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการจะทำหลักสูตรแบบเดิมไม่ได้ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จะต้องจัดหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น จัดการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สามารถยืนอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน มิฉะนั้นเด็กก็จะไม่ทันโลกปัจจุบัน เช่นเหตุการณ์กราดยิงที่โคราชเมื่อเห็นไม่ปกติก็ต้องวิ่งก่อน แต่ถ้าเกิดเหตุจำเป็นวิ่งไม่ทันก็ต้องหาที่หลบซ่อน ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ในการเอาตัวรอดในทุกๆเรื่อง ไม่ใช่เรื่องแค่นี้เรื่องเดียว และหวังว่าทุกบทเรียนที่สอน จะสามารถนำมาคิดวิเคราะห์ได้ว่าจะต้องเอาตัวรอดกับการเผชิญหน้าอย่างไร ไม่ใช่มีเรื่องนี้แล้วห้ามไม่ให้เล่นเกมกันทั่วประเทศ แต่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลและส่งข้อมูลต่อ