เมื่อวันที่ 30 ม.ค.63 ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี(วษท.) ร้อยเอ็ด คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “ฉลองสถานศึกษาพระราชทาน ประสานสัมพันธ์ศิษย์เก่า OPEN HOUSE วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด” โดยคุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ตนมีความตั้งใจอยากให้คนรู้ว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่มีอยู่ 47 แห่งทั่วประเทศ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ชื่นชมของสังคม เช่น วษท.ร้อยเอ็ด ก็เป็นสถานศึกษาแห่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด ได้รับรางวัลพระราชทาน ถึง 3 ครั้งในรอบ 10 ปี แสดงให้เห็นว่าเป็นสถานศึกษาที่มีผลงานดีเด่นแน่นอน ซึ่งตนในฐานะเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนานวัตกรรมเสริมในส่วนที่จะเสริมได้ และจะใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นคือระบบดิจิทัล เข้ามาช่วยในการผลิตพืช สัตว์ หรือการบริหารฟาร์ม ที่เรียกว่า สมาร์ทฟาร์มมิงเข้าไปช่วยพัฒนาผู้เรียนและเกษตรกรให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตร รวมถึงมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

“ดิฉันอยากจะ เชิญชวนนักเรียนมาเรียนเกษตรให้มากขึ้น เพราะตอนนี้มีตัวอย่างให้เห็นมากแล้วว่า อาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่กระจอกอีกต่อไปแล้ว แต่สามารถสร้างให้เป็นผู้ประกอบการมีรายได้เป็นล้านได้ และเป็นอาชีพที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับอาชีพอื่นอย่างไม่น้อนหน้า ทั้งนี้เชื่อว่าจะมีความสนใจมาเรียนด้านเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้น เพราะอาชีวศึกษาจัดให้เรียนฟรี มีรายได้ จบแล้วมีงานทำพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที เนื่องจากเราใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลเข้ามาส่งเสริม อีกทั้งมีโครงการทวิภาคีทั้งในและต่างประเทศให้เด็กได้ฝึกประสบการณ์”กล่าวและว่า ที่สำคัญการจัดการเรียนการสอนโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.)ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กับผู้ยากไร้เข้ามาเรียนรู้เรื่องเกษตร ซึ่ง สอศ.ทำโครงการนี้ตั้งแต่ปี2527 จนถึงขณะนี้นศ.ในโครงการอศ.กช.ได้นำความรู้ไปต่อยอดประสบความสำเร็จมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างสบาย

ด้าน  ดร.ชาติชาย เกตุพรหม ผู้อำนวยการ วษท.ร้อยเอ็ด รักษาการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กล่าวว่า วิทยาลัยมีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่งและมีความสุขโดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานศึกษาได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน 3 ครั้ง ในรอบ 10 ปีการศึกษา คือ  ปีการศึกษา 2552 , 2557 และ 2561 ยังความปลื้มปิติแก่คณะครู นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนับสนุน และผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ผอ.วษท.ร้อยเอ็ด กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ วิทยาลัยฯได้จัดงานฉลองสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประสานสัมพันธ์ศิษย์เก่า OPEN HOUSE ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบข้อมูลการศึกษาสายอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม เปิดโอกาสให้ครู นักเรียน และผู้สนใจชมผลงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการจัดการศึกษาของวิทยาลัยฯ และเพื่อเสริมสร้างทัศนคติที่ดีของบุคคลภายนอกที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา โดยการจัดงานฯ ครั้งนี้ มีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะครูและนักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด เข้าร่วมงาน โดยได้จัดขบวนพาเหรดอัญเชิญเกียรติบัตรและโล่รางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน 3 ปีการศึกษา รวมทั้ง มีการจัดแสดงนิทรรศการของแผนกวิชา การจัดแสดงนิทรรศการการจัดการเรียนการสอนโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) การจัดแสดงนิทรรศการของนักศึกษาโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล (ARAVA) การนำเสนอผลงานของนักศึกษาอศ.กช. การอบรมหลักสูตรระยะสั้น นอกจากนี้ยังมีห้องเรียนรู้เทคโนโลยีเฉพาะทางอาชีวศึกษา ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ระดับชาติ (Super Gold) 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทวิชาเกษตรกรรม ห้องเรียนพฤกษศาสตร์แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ประเภทวิชาประมง ห้องเรียนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ (Aquaculture Economic Classroom) ประเภทวิชาพาณิชยกรรม ห้องเรียน Spread Sheet Roomและประเภทวิชาสามัญ ห้องเรียน English Edutainment Room โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษาได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการกระบวนการเรียนรู้อาชีวศึกษาภายใต้การวิจัยและพัฒนาการจัดสถานที่เรียนรู้เทคโนโลยีเฉพาะทางอาชีวศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ได้ทุกระดับ โดยมีองค์ประกอบในการเรียนรู้ครบถ้วนตามหลักการเรียนรู้ ซึ่งสถานศึกษาถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคม ประชาชน นักเรียน และนักศึกษา สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ เพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ มีบรรยากาศน่าเรียน โดยนำเทคโนโลยีและสื่อที่เหมาะสมเข้ามาบูรณาการ ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าถึงองค์ความรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ตามหลักเกณฑ์การประเมินซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ด้าน สอดรับกับยุทธศาสตร์ การผลิตและพัฒนากำลังคน การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการจัดการเรียนการสอน

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments