เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการจัดแสดงผลงาน จากโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โครงการวิจัย “การพัฒนาโรงเรียนสาธิตให้เป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติการและการวิจัยเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนในท้องถิ่น” ใช้ “ห้องเรียน GPAS 5 Steps Active Learning” ขับเคลื่อนการพัฒนา โดยมี นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เป็นประธาน และกล่าวว่า หลักสูตรของไทยเนื้อหาส่วนใหญ่ยังเป็น Passive Learning ที่ผลิตคนเพื่อป้อนระบบราชการ แต่ในโลกความเป็นจริงเราต้องการผลิตคนเพื่อโลกในศตวรรษที่ 21 คือ เป็นคนที่ลงมือปฏิบัติ ทำด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความรู้ที่รอบด้าน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนให้เป็น Active Learning และเมื่อเด็กผ่านกระบวนการนี้แล้ว ก่อนจะทำอะไรหรือคิดผลิตชิ้นงานแต่ละชิ้น เขาจะต้องศึกษาและลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทำตามที่ครูบอก ซึ่งกระบวนการนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเกิดนวัตกรรม
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ หรือ พว. กล่าวว่า โครงการวิจัย “การพัฒนาโรงเรียนสาธิตให้เป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติการและการวิจัยเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนในท้องถิ่น” โดย ใช้ “ห้องเรียน GPAS 5 Steps Active Learning” ในการขับเคลื่อนการพัฒนาครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เพื่อพลิกการเรียนรู้ที่ไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้สร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง กลับมามีศักยภาพในการผลิตองค์ความรู้ในระดับนวัตกรรมได้ทุกศาสตร์ ทั้งด้าน ศิลปะ ดนตรี ภาษา วิทยาศาสตร์ สังคม คณิตศาสตร์ สุขศึกษา พลศึกษา และการงานอาชีพ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาพหุปัญญา หรือ ความถนัดของผู้เรียนที่แตกต่างกัน เป็นการตอบโจทย์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 จ (4) ได้ชัดเจน ตรงเป้าหมาย เป็นรูปธรรม ที่สำคัญเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เรียนทุกคนทั้ง 100 % จะสามารถเข้าถึงได้เต็มศักยภาพด้วย
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า การวิจัยครั้งนี้ไม่ได้พัฒนาเพียงโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ฯ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ได้ขยายผลไปพัฒนาโรงเรียนในเครือข่ายของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ฯ ประกอบด้วยโรงเรียนในจังหวัดสระแก้ว จำนวน 48 โรง จังหวัดปทุมธานี 20 โรง ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กระบวนการการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้ถึงร้อยละ 80 ของโรงเรียนเครือข่าย รวมจำนวนกว่า 1,000 นวัตกรรม นับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม เพราะเป็นต้นแบบของการลงทุนน้อยและ ใช้เวลาไม่นาน คือ เพียง 2 ปีในการวิจัย แต่สามารถสร้างนวัตกรรมได้มากมาย ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่เน้นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า การพัฒนาพหุปัญญารูปแบบดังกล่าวจะสามารถนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสถานศึกษาอื่น ๆ ได้ ซึ่งสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ หรือ พว.มีความพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการสร้างนวัตกรรมต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โลกยุคปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัวค่อนข้างมาก มหาวิทยาลัยและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯจึงพยายามพัฒนาครูให้สามารถออกแบบการเรียนการสอนที่จะสร้างทักษะให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนมากกว่าที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก การเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการปฏิบัติจริงจึงเป็นวิธีการที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ เพราะผู้เรียนต้องร่วมกันคิด วิเคราะห์และลงมือปฏิบัติ เพื่อค้นหาคำตอบหรือองค์ความรู้เพื่อการแก้โจทย์ร่วมกัน Active Learning จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในทศวรรษหน้า
“ชาวราชภัฏ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเห็นคำตอบชัดเจนว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถทำให้ผู้เรียนเรียนได้อย่างมีความสุข สามารถนำทักษะความรู้ไปแก้ปัญหาได้จริง รวมทั้งสามารถเตรียมตัวเพื่อออกไปแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ในโลกได้ด้วย”ผศ.ดร.สุพจน์ กล่าว