เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการจัดการศึกษาในจังหวัดกระบี่ ซึ่งภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเกาะ แก่ง  เพื่อใช้ประกอบการจัดทำแผนและทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ เสนอรัฐบาลเพื่อทำแผนการศึกษาของชาติ โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้จะรับฟังแนวทางการจัดการศึกษา ทุกระดับชั้นตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ รวมถึงโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนและโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)สังกัดมหาดไทยด้วย

 ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา ได้สรุปให้ฟังพอสังเขปว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในพื้นที่ ทำให้เห็นภาพรวมทั้งจังหวัดอย่างน่าสนใจ และถือเป็นข้อมูลที่ดีระดับหนึ่ง โดยภาพรวมการจัดการศึกษาของจังหวัดกระบี่เป็นที่น่าสนใจอย่างมาก การเป็นจังหวัดขนาดเล็ก มีพื้นที่ทางภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งพื้นที่ในเมือง เกาะแก่ง และพื้นที่ห่างไกล การจัดการศึกษามีรูปแบบที่หลากหลายในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางภูมิประเทศ โดยเฉพาะบนเกาะซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวจะมีปัญหาเด็กเข้าเรียนตามฤดูกาล ย้ายตามผู้ปกครอง ทำให้เห็นเด็กเข้าและออกกลางคันตลอดปี ซึ่งเป็นปัญหากับระบบบริหารจัดการของโรงเรียน  และเป็นปัญหากับตัวเด็กเองที่นอกจากต้องปรับตัวตลอดเวลาแล้วยังขาดความต่อเนื่องในการเรียนรู้  ขณะที่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวถึงแม้จะไม่ค่อยมีปัญหาเด็กเข้าออกตลอดเหมือนในแหล่งท่องเที่ยว เพราะเด็กส่วนใหญ่จะเป็นเด็กในพื้นที่ แต่กลับมีปัญหาโรงเรียนแย่งเด็กกันเองโดยเฉพาะในโรงเรียนสอนศาสนา 

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำหรับระดับอาชีวศึกษา พบว่าสถานศึกษาก็มีความพยายามที่จะปรับตัว เพื่อรองรับอาชีพใหม่ในพื้นที่ โดยเฉพาะ การผลิตคนสู่ธุรกิจสปา แต่สิ่งที่พบคือ วิธีการจัดการเรียนการสอนยังไม่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ได้มากพอ  และอาจจะยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่ได้มากนัก รวมถึงอาจจะยังไม่สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับกลุ่มธุรกิจในพื้นที่ได้มากพอ ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์ที่สำคัญหนึ่งที่สถานศึกษาจะต้องตีให้แตก เพื่อให้สามารถพัฒนาคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมและรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น

“เนื่องจากจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่คนท้องถิ่นเป็นชาวเล หากถามในเชิงลึกแล้ว เรื่องการศึกษาส่วนใหญ่ต้องการเพียงแค่เรียนเพื่ออ่านออกเขียนได้ก็พอ ไม่ได้ต้องการเรียนสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นสายสามัญหรือสายอาชีพ เขาต้องการเพียงการเติมทักษะความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพดั้งเดิม เพราะวิถีชีวิตเดิมกำลังถูกรุกไล่ด้วยความเจริญเข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา แต่ฝ่ายการศึกษาก็ยังไม่สามารถสนองตอบสิ่งที่เขาต้องการได้ เพราะฉะนั้นฝ่ายการศึกษาเราจะต้องคิดทำอย่างไรให้เขาสามารถอยู่ได้ด้วยโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องสอนให้เขาสามารถดำรงชีพอย่างเดียวไม่พอแล้ว ซึ่ง สกศ.จะกลับมารวบรวมข้อมูล เพื่อหาทางจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนสามารถอยู่ในพื้นที่ให้ได้”ดร.สุภัทร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่รู้สึกประทับใจ และ มองว่าจะเป็นแนวทางการสร้างเด็กไทยเก่ง ๆ ได้ คือ การดำเนินการของโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ภายใต้การบริหารงานของ อบจ.กระบี่ ที่สามารถบริหารจัดการเรียนการสอนจนทำให้เด็กที่เรียนโรงเรียนอบจ.เป็นคนเก่งได้ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า เด็กทุกคนไม่ใช่เด็กเก่ง แต่เขาสามารถสร้างให้เก่งได้ เห็นได้จากโรงเรียนเพิ่งเปิดรับนักเรียนมาแค่ 4 รุ่น นักเรียนรุ่นที่ 2 ก็โดนสุ่มให้เข้าสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งเป็นการสอบเพื่อใช้วัดระดับการเรียนรู้ของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก โดยเป็นวัดระดับความรู้ใน 3 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ผลปรากฏว่า เด็กสามารถทำคะแนนพิซาได้สูงกว่าระดับโลก

 สิ่งที่พบจากโรงเรียนนี้อีกอย่าง คือ  อบจ.ทุ่มงบประมาณ เป็นการลงทุนเต็มที่เพื่อสร้างคุณภาพ  ห้องเรียนจำกัดจำนวนนักเรียนที่ 30 คน เต็มที่ไม่เกิน 32 คน มีครูครบชั้น โดยครู 90% เป็นเด็กได้รับเกียรตินิยม เรียกว่าหาคนเก่งมาเป็นครูได้ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์การเรียนการสอนพร้อม มีการจัดสอนเสริมในวันเสาร์อาทิตย์ฟรี และไม่รับเด็กฝาก ซึ่งทาง อบจ.ยืนยันว่า ผู้ปกครองอยากให้เด็กมาเรียนเยอะมาก แต่ต้องมาตามกติกาต้องผ่านการคัดเลือกไม่มีเด็กฝากแน่นอน และไม่ยอมให้จำนวนเด็กต่อห้องต้องไม่เกินกว่าที่กำหนด โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำข้อมูลที่ได้มานี้เสนอต่อสภาการศึกษาต่อไป

ดร.สมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การสร้างโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคน ในฐานะจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดเล็ก ๆ งบประมาณก็น้อย แต่ละปี อบจ.กระบี่ได้รับงบประมาณเพียง 300 กว่าล้านบาท โดยเป็นงบฯบริหารและงบฯอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ เหลือเป็นงบฯพัฒนาประมาณ 100 กว่าล้านบาท แต่ตนได้เสนอในสภา อบจ.ว่าขอกันเงินส่วนหนึ่งประมาณ 40% มาสร้างโรงเรียนของ อบจ. เป็นการลงทุนเพื่อสร้างคน  โดยทุกครั้งที่มีการคุยกับเด็กจะมีการพูดเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกว่า อยากให้กลับมาพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งเราสามารถรับรู้ได้ว่าไม่ว่าเด็กเมื่อเติบโตไปแม้จะไปทำงานตามจังหวัดต่าง ๆ ไปทำงานระดับประเทศ แต่เขาจะต้องกลับมาช่วยเหลือบ้านเมืองเชื่อมต่อมาถึงจังหวัดกระบี่แน่นอน

“ถือเป็นความโชคดีของ อบจ.กระบี่ เพราะได้รับความร่วมมือสนับสนุนอย่างดีจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น ในการส่งบุคลากรมาช่วยสร้างหลักสูตร วิพากษ์หลักสูตร และสนับสนุนการสอน ส่วนทาง อบจ.ก็เต็มที่กับงบประมาณในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนงบประมาณ รวมถึงผู้ปกครองก็มีส่วนสนับสนุน เราสามารถคัดคนเก่ง ๆ มาเป็นครูได้ จัดหาวัสดุครุภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาใช้ในการเรียนการสอน จึงทำให้เราสามารถทำคุณภาพในการสร้างทรัพยากรบุคคลได้อย่างเต็มที่ ช่วงเวลาเพียง 4 รุ่นที่เรารับนักเรียนเข้ามาเด็ก สามารถทำคะแนนการทดสอบระดับนานาชาติ หรือ พิซาได้สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับโลก ซึ่งถือเป็นบททดสอบหนึ่งของการลงทุนที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”นายกอบจ.กระบี่กล่าว

วารินทร์ พรหมคุณ รายงาน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments