เมื่อวันที่ 22พ.ย.62 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธาน จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)เพื่อขับเคลื่อนการอาชีวศึกษากับการพัฒนาประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษาเพราะอาชีวศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ถ้าเราไม่มีทักษะฝีมือที่จะตอบสนองนโยบายของประเทศได้ จึงต้องมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษามากที่สุด ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทุกคนก็เข้าใจดีว่า การอาชีวศึกษามีความสำคัญในการเสริมสร้างสมรรถนะและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งดูได้จากประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ต่างก็มีอาชีวศึกษาที่เข้มแข็ง เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะผลักดันประเทศให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เราต้องกลับมาดูการอาชีวศึกษา
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญประการหนึ่งในการยกคุณภาพการอาชีวศึกษา คือ เรื่องภาษาอังกฤษ ที่จะต้องกล้าทำ เพราะถ้าไม่กล้าจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศได้ ถึงแม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ต้องจ่ายทันที การเพิ่มครูสอนภาษาอังกฤษเป็นความจำเป็น ถ้าไม่ทำก็จะเดินหลงทางอยู่อย่างนี้ เรื่องของค่าใช้จ่าย งบประมาณ เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องจัด ส่วนจะหามาจากที่ไหน เป็นอีกเรื่อง ซึ่งตนจะร่วมกันกับรมช.ศึกษาธิการ ไปนั่งคุยในสภาฯหามาให้ได้ เพราะเราจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้เด็กมีทักษะการพูดภาษาอังกฤษที่เข้มแข็ง เด็กอาชีวะหลายวิทยาลัยพูดได้แล้ว แต่ก็ยังไม่เข้มแข็งพอ ดังนั้นถ้าเราเพิ่มความเข้มข้นภาษาอังกฤษเข้าไปทำให้เด็กมีความเข้มแข็งและ เงินเดือนของเด็กจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นตนถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า ช่วง3-4เดือนมานี้ ได้มีโอกาสพบกับทูตประมาณ 20 ประเทศ พบว่าแต่ละประเทศมีแผนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย แต่ในความรู้สึกของตนค่อนข้างมั่นใจว่าความเป็นไปได้เกือบจะเป็นศูนย์ เพราะเขาไม่มั่นใจในความสามารถที่เราจะตอบสนองความต้องการด้านแรงงานให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้เลขาธิการกอศ.ก็รับทราบแล้ว แต่หากเรามีความพร้อมในเรื่องกำลังคน ตนมั่นใจว่าทุกประเทศมองมาที่ประเทศไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องพลิกอาชีวศึกษาของไทยให้ได้ และให้เร็วที่สุด
“อาชีวศึกษาต้องฉีดยาแรง กล้าหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ต้องทำถ้ากล้าๆกลัวๆก็ต้องทำ เพื่อให้เด็กมีทักษะอาชีพที่ไม่น้อยกว่าปัจจุบัน ผมอยากให้ช่วยกันคิด ช่วยกันพลิกอาชีวศึกษาไทย เพราะอาชีวศึกษาคือเส้นทางหลักในการพัฒนาชาติ”รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ในการพลิกอาชีวศึกษาไทย สิ่งแรกคือความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่ต้องทำให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนว่าอาชีวศึกษา คือแนวทางที่สำคัญของประเทศ เพราะขณะนี้ถึงแม้ปริมาณเด็กที่อยู่ในอาชีวศึกษา ซึ่งคิดว่าเพียงพอกับความต้องการของตลาดแล้ว แต่ตนก็ยังไม่มั่นใจ เพราะการเจริญเติบโตของประเทศ ทำให้ต้องมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่กระทรวงศึกษาธิการจะไม่พูดถึงแต่เรื่องปริมาณเท่านั้น แต่ต้องเน้นเรื่องของคุณภาพที่ต้องเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย ซึ่งถ้าไม่ทำก็จะไม่สามารถพลิกประเทศได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า สำหรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพกับสายสามัญ ที่จะต้องทำให้ได้50:50 ในปีหน้านั้น กระทรวงศึกษาธิการคงไม่มองเท่านั้นแล้ว เพราะตอนนี้ได้มีการคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ โดยขอให้ภาคธุรกิจไปหารือกันเองก่อนว่า มีความต้องการบุคลากรด้านใดบ้าง แต่ละธุรกิจต้องการคนที่มีศักยภาพอย่างไร จากนั้นค่อยมาหารือและวางแผนร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือต้องมีพื้นที่ให้เด็กได้ฝึกงานด้วย ส่วนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของอาชีวศึกษา ในระยะเวลาอันสั้นนี้ตนคิดว่าอาจจะต้องไปหารือกันทางอุดมศึกษาว่า ในขณะที่ผู้เรียนอุดมศึกษากำลังลดน้อยลงจะสามารถให้บุคลากรมาช่วยสอนได้หรือไม่ ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้ได้บุคลากรที่ตรงกับสายงาน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและสร้างศักยภาพให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษาได้อย่างแน่นอน
ด้านนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน สังกัดสอศ. และบุคลากรจากส่วนกลาง ได้รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการอาชีวศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และทำความเข้าใจในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษา ได้เสนอความคิดเห็นและแนวทางในการบริหารสถานศึกษาให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล ศธ.และสอศ.ด้วย