เมื้อวันที่ 6 พ.ย. ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยกรณีกลุ่มผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมกลุ่มคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … และการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า หลังจากที่คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ได้ประชุมหารือกันแล้วก็ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปหารือรูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสมของตนเอง ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างของ สพฐ. โดยมีนายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน พร้อมด้วยสมาคมผู้อำนวยการสพท. ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ซึ่งได้มีการหารือเบื้องต้น เพื่อเตรียมจะนำข้อเสนอในที่ประชุมผู้อำนวยการ สพท. ทั่วประเทศ ในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ที่จังหวัดตราด โดยการปรับโครงสร้างในส่วนของ สพฐ. จะต้องวิเคราะห์ทั้งระบบ ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้การบ้านว่าให้ลดความซ้ำซ้อน และการทับซ้อน ในการทำงาน ซึ่งสพฐ.ก็รับหลักการนี้มาพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
“ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเท่าที่ดูมีงานที่ซ้ำซ้อนอยู่ เพียง 3-4 เรื่อง หนึ่งในนั้น คือ อำนาจการบริหารงานบุคคลตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ยังซ้ำซ้อนอยู่ เป็นการใช้อำนาจไม่ถูกที่ ทั้งที่ควรเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้เราจะคุยกันอีกครั้งหนึ่งในการประชุมผอ.สพท.เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการพิจารณา และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างต่อไป”ดร.อำนาจ กล่าว
นายอัมพร กล่าวว่า เมื่อได้รับโจทย์มา ตนก็ได้ให้แต่ละหน่วยงานช่วยกันวิเคราะห์รูปแบบโครงสร้าง สพฐ. ที่เหมาะสม โยเริ่มจากโรงเรียน ว่ามีความคิดเห็นต่อโครงสร้างที่เป็นอยู่อย่างไร จากนั้นมาที่เขตพื้นที่ฯ มีความเห็นอย่างไรต่อโครงสร้างที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลโรงเรียนส่วนใดที่ยังไม่คล่องตัว และยังไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงงานอื่นๆ ที่ทำร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เมื่อมีคำสั่ง ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว การทำงานระหว่าง ศธจ. กับสพท. มีส่วนใดที่ยังไม่ลงตัวและเป็นอุปสรรค เมื่อวิเคราะห์เสร็จแล้วก็จะนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบโครงสร้างใหม่ในส่วนของสพฐ. บนพื้นฐษนของความคิดเห็นของคนสพฐ.โดยจะต้องตอบโจทย์คุณภาพผู้เรียนและยกระดับคุณภาพสถานศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการออกแบบการสำรวจ และตั้งคำถามทั้งในระดับโรงเรียน เขตพื้นที่ฯ ภาคประชาสังคม คณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อไปหารือในที่ประชุมผู้อำนวยการสพท. อีกครั้งหนึ่ง
“เมื่อได้ความเห็นแล้วก็จะมาออกแบบยกร่าง เมื่อได้โมเดลโครงสร้างที่เหมาะสมแล้วก็จะต้องจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็น จากผู้เกี่ยวข้อง รอบสุดท้ายก่อนเสนอให้คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างฯ พิจารณา ทั้งนี้เราจะไม่มองว่าหน่วยงานจะใหญ่หรือเล็ก แต่จะมองว่าทำอย่างไร ให้การทำงานไม่ทับซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่น หรือภารกิจใด ที่สพฐ. จะเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประสานงาน หรืออะไรที่ทับซ้อนกับสพฐ. การปรับครั้งนี้จะเอางานเป็นตัวหลัก แล้วค่อยมาออกแบบโครงสร้างให้เป็นไปตามงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ” นายอัมพร กล่าว