ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาฯวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานจัดทำข้อเสนอการบูรณาการการศึกษากับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ที่มี น.ส.สุทธาสินี วัชรบูร เป็นประธาน ได้นำเสนอรายงานข้อเสนอการบูรณาฯ ที่ได้จากการศึกษาสถานการณ์ สภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ซึ่งพบว่า คุณลักษณะของผู้เรียนทั้งในด้านหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผลในปี 2562 เป็นดังนี้ 1.เด็กไทยมีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด 2. หัวโต ตัวลีบ มีการเรียนรู้ที่ขาดความสมดุล เน้นด้านสติปัญญาความรู้ แต่ขาดการพัฒนาในด้านอื่น ๆ 3. รู้ธรรมะ แต่ไม่มีธรรมะ ขาดการฝึกฝนอย่างเพียงพอ 4. นกแก้วนกขุนทอง จดจำความรู้ความเข้าใจในระดับผิวเผินไม่รู้ลึกรู้จริง 5. เก่งแบบเป็ด ไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้ศักยภาพและความถนัดของตนเอง 6. เรียนเพื่อสอบ เรียนเพื่อให้ได้เกรดหรือให้สอบผ่าน 7. เรียนแบบตัวใครตัวมัน และ 8. ไม่เห็นคุณค่าของการเรียน
ดร.จรวยพร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังพบสภาพปัญหาที่เกิดจากการเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬาและภูมิปัญญา ได้แก่ การเหินห่างจากศาสนาของคนในชาติ ให้ความสำคัญกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะน้อยกว่ากลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ทั้งที่ศิลปะสามารถพัฒนาสมองซีกขวาให้เกิดจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมอันดีงามเริ่มเสื่อมถอย สังคมไทยมีแนวโน้มเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ขาดความเหมาะสมในการจัดเวลาสำหรับออกกำลังกายในสถานศึกษา ขาดความสำคัญของการส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาของเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย ส่งผลเสียระยะยาวด้านพลานามัยของคนในประเทศ ขาดการเทียบโอนความรู้ภูมิปัญญากับระบบการศึกษา
“จากสภาพปัญหาต่าง ๆ ที่พบ คณะทำงาน ฯ ได้ เสนอข้อเสนอระดับนโยบาย เช่น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการร่วมกับกระทรวง ทบวง กรม และสถาบันผลิตครูที่เกี่ยวข้อง พัฒนาหลักสูตร/ปรับหลักสูตรที่บูรณาการด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมองทั้ง 2 ซีกอย่างสมดุล เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาของชาติ ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน สนับสนุนการทำวิจัย การจัดทำสื่อ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย มีระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) จัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูล (Big Data) เพื่อนำไปวิเคราะห์และจัดทำหลักสูตรแนวใหม่ ตลอดจนการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในสังคม เป็นต้น”ดร.จรวยพร กล่าวและว่า ทั้งนี้จะมีการนำข้อเสนอนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา ซึ่งมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ในวันที่ 29 พ.ย.เพื่อผลักดันเป็นนโยบายในการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 ต่อไป