เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เปิดเผยว่า นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ดำเนินการเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่สถานศึกษา โดยให้จัดทำแนวทางและส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้สามารถกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษาอย่างแท้จริง โดย รมว.ศึกษาธิการ กำชับว่า เมื่อให้อำนาจไปแล้ว หากโรงเรียนไม่สามารถดำเนินการได้หรือทำแล้วประสบปัญหาต้องสามารถเรียกอำนาจคืนได้ ซึ่งเรื่องนี้ สพฐ.พอมีข้อมูลเรื่องนี้บ้างแล้ว และคิดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการไม่นานนัก โดยตนจะเร่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมารวบรวมข้อมูล และวางแนวทางการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจให้แก่สถานศึกษา ต่อไป
ว่าที่เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ สพฐ.มีความเห็นสอดคล้องกับ รมว.ศึกษาธิการ ว่า การกระจายอำนาจให้สถานศึกษา นั้น จะต้องมีทั้งเรื่องของความรับผิดและรับชอบ ต้องมีมาตรการและแรงจูงใจซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่มีแต่โจทย์เดียว คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง เราต้องมองด้วยว่าสิทธิและหน้าที่ในการขับเคลื่อนสถานศึกษาให้มีความเข้มแข็งในการทำงานคืออะไร โดยให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสังคม เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน อีกทั้งต้องให้กรรมการสถานศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย โดยต้องเชื่อมโยงไปถึงเรื่องหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ที่ให้ครูได้มีบทบาทในการจัดการเรียนรู้ที่ตรงกับความต้องการของชุมชน ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
“โรงเรียนทุกแห่งสามารถเป็นนิติบุคคลได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว และจากประสบการณ์ที่ผมร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษามาตลอด เชื่อว่าสามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติคงต้องให้คณะทำงานและคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นช่วยกลั่นกรองก่อน โดยส่วนตัวคิดว่าต้องดูโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อน เช่น โรงเรียนขนาดใหญ่มีมีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 2,000 คนขึ้นไป หรือ โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนเฉพาะทางอย่าง กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นต้น เพราะถ้าให้เป็นนิติบุคคลทั้งหมดในคราวเดียว อาจจะเกิดภาวะช็อกจากกฎหมายและแนวทางจนเป็นปัญหากลับมาได้ ส่วนแนวทางจะเป็นอย่างไรคงต้องรอฟังจากคณะกรรมการก่อน เพื่อจะได้ขับเคลื่อนให้โรงเรียนมีอิสระในการดำเนินการทางด้าน วิชาการ การบริหารงานบุคคล งบประมาณ และการบริหารทั่วไป เพื่อให้โรงเรียนมีอิสระจริง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้นโยบายว่า ต้องมีทางออกไว้ด้วย หากโรงเรียนบริหารแล้วมีปัญหา อำนาจนี้ต้องสามารถเปลี่ยนแปลงและขอคืนได้ด้วย”ดร.อำนาจกล่าว