เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน(สช.)ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มายื่นหนังสือให้มีการทบทวนรายชื่อผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)ในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)ลงวันที่ 18 ต.ค.2562 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.2562 โดย
ดร.บัณฑิต ครุฑางคะ อุปนายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้มายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนสช.ในกศจ.เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ทุกจังหวัด เพราะขณะนี้เกิดความเสียหายต่อการจัดการศึกษาเอกชนอย่างมาก เนื่องจากผู้แทนสช.ที่จะไปทำหน้าที่ในกศจ.จะต้องวางยุทธศาสตร์การศึกษาเอกชนในจังหวัดนั้น ๆ แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่ได้แต่งตั้งที่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชนโดยตรงลงมาเป็นผู้แทนสช.แทบจะหมดไป ไม่มากพอสมควร ซึ่งความเป็นจริงจะต้องได้ผู้แทนสช.ในกศจ.ต้องเป็นผู้ที่รู้บริบทของโรงเรียนเอกชนได้มากที่สุด และผู้ที่รู้มากที่สุดคือนายกสมาคมการศึกษาเอกชนในแต่ละจังหวัด แต่ผลที่ออกมากลับกลายเป็นว่าแต่งตั้งอดีตข้าราชการบำนาญ ลงแต่ละจังหวัดประมาณ 10 จังหวัด เป็นข้าราชการปัจจุบันอีก 6 จังหวัด เป็นอดีต สส.สอบตก 5 จังหวัดเข้าไปเป็นผู้แทน และอีก 8 จังหวัด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเอกชนเลย ซึ่งจะเป็นผลต่อการจัดการศึกษาเอกชน เพราะผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่ไม่รู้บริบท และการศึกษาเอกชนเลย แล้วจะไปทำหน้าที่แทนพวกเราได้อย่างไร
“พวกผมอยากให้มีการทบทวนการแต่งตั้งดังกล่าวเพราะขณะนี้มี 20 กว่าจังหวัด ไม่มีผู้แทนจากโรงเรียนเอกชนเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วจะต้องมีผู้แทนครูโรงเรียนเอกชน หรือผู้บริหารโรงเรียนเอกชน เข้าไปเป็นผู้แทนสช.ในกศจ.ซึ่งการแต่งตั้งผู้แทนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ในกศจ.ครั้งล่าสุดก็แต่งตั้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกจังหวัดเข้าไปเป็นผู้แทนฯซึ่งเป็นของแท้ของสพฐ.แล้ว สช.ทำไมไม่เอาครูหรือผู้บริหารโรงเรียนเอกชนเข้าไปเหมือนสพฐ.”นายบัณฑิต กล่าวและว่า ทั้งนี้สช.ได้มีการประชุมและหารือกันแล้วว่าจะให้เวลาศธ.ทบทวนเรื่องนี้ภายใน 30 วัน ถ้าหากไม่มีการทบทวนตามที่ร้องขอ พวกเราจำเป็นต้องรวมตัวกันมาเรียกร้อง และคงต้องร้องศาลปกครองอีกทางหนึ่ง