สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 รางวัลพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 รางวัลพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ และเพื่อเทิดพระเกียรติเจ้าฟ้านักการศึกษา ผู้ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู 2 ปีครั้ง เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ปี 2562 มีประวัติที่น่าสนใจดังนี้
1. บรูไน ดารุสซาลาม นางฮาจา นูร์เลีย ฮาจี อัสปาร์ ครูใหญ่โรงเรียน เซลา เรนดา ลัมบัก คานัน จาลัน
49 ผู้บริหารโรงเรียนที่มีความเชี่ยวชาญการบริหารการศึกษาและจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาครูด้านการศึกษาพิเศษ เป็นต้นแบบโรงเรียนแบบเรียนรวม (Model Inclusive School) ศูนย์ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กปัญญาเลิศ รวมถึงเด็กๆทุกคน อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานคุณภาพครู วิทยากรฝึกอบรมครูให้กับกระทรวงศึกษาและสถาบันผลิตครู
2. กัมพูชา นายลอย วิรัก ครูสอนฟิสิกส์ โรงเรียนมัธยมฮุนเซน โลเลียพา เอีย จังหวัดกัมปงชนัง เน้นให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรงจากการทดลอง สร้างบทเรียนที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันด้วยสื่อการเรียนรู้ใกล้ตัว กระตุ้นการเรียนรู้นักเรียนเป็นรายบุคคล ทำให้ไม่มีนักเรียนตกซ้ำชั้น ด้วยความมุ่งมั่นว่าการศึกษาที่ดีจะนำไปสู่การให้โอกาสแก่เด็กโดยเฉพาะเด็กยากจน
3. ฟิลิปปินส์ นายซาดัด บี มินันดัง นักมานุษยวิทยาผู้เปลี่ยนอาชีพตนเองมาเป็นครู โรงเรียนประถมศึกษาอัมมิร๊อล เมืองโคตาบาโต จังหวัดมินดาเนา มีส่วนช่วยพัฒนาโรงเรียนและชุมชน ผู้ริเริ่ม “รถลากเสริมความรู้” รถลากเคลื่อนที่บรรทุกหนังสือเรียนและสื่อการเรียนรู้ไปยังหมู่บ้านเพื่อให้เด็กที่ขาดโอกาสได้รู้หนังสือ ริเริ่มโครงการความศรัทธาในการทำงานร่วมกันเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกกรณีการลักลอบหรือล่อลวงเด็กเพื่อสร้างสันติสุขและวินัยในชุมชน
4.ติมอร์-เลสเต นางลูร์เดส รันเกล กอนคัลเวส ครูประถม โรงเรียนมาทาทา ฟิเลีย เมืองเอเมรา ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาโดยร่วมกับครูใหญ่ก่อตั้งโรงเรียนมาทาทา โดยใช้ที่ดินของครอบครัวเพื่อจัดการศึกษาให้กับเด็กในพื้นที่ภูเขาสูง มากว่า 19 ปี นักจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมเพื่อให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการกลุ่มและกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้ (Active Learning) ร่วมเขียนหลักสูตรภาษาเตตุนระดับประถมศึกษา นับเป็นครูผู้เตรียมอนาคตให้แก่เด็กของติมอร์-เลสเต ซึ่งเด็กทุกคนที่เข้าเรียนโรงเรียนของเธอจะเรียกครูลูร์เดสว่า แม่ หรือ มาม่าลูร์
5. เวียดนาม นายเลอ ทัน เลียม ครูสอนวิชาฟิสิกส์และเทคโนโลยี โรงเรียนฮิม ลัม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำสำหรับเด็กชนเผ่ากลุ่มน้อย อำเภอเกาทั่น จังหวัดเฮาเกียง พัฒนานักเรียนโดยฝึกกระบวนการคิดจากชีวิตจริงและช่วยเหลือชุมชนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวเขมร ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาในห้องเรียน ใช้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ ฝึกสังเกตและแสดงให้เห็นปัญหาในชุมชน
6. สิงคโปร์ นางแอนเจลีน ชาน ซิว เหวิน ครูการศึกษาพิเศษ ผู้มุ่งมั่นไม่ปล่อยให้เด็กพิเศษคนใดตกหล่นหรือออกกลางคัน ผู้ส่งเสริมการเรียนรู้แก่เด็กพิเศษ สอนอ่านและพูดอย่างอดทนจนกว่าจะสามารถพัฒนาความก้าวหน้าได้ตามลำดับ เอาใจใส่ทั้งจิตใจเด็กและสภาพความเป็นอยู่ของลูกศิษย์ และมีบทบาทสำคัญเป็นแกนนำเครือข่ายการพัฒนาครูและผู้ฝึกอบรมการจัดการศึกษาพิเศษให้กับกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์
7. ไทย นายสุเทพ เท่งประกิจ ครูประถมศึกษา โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ครูของชุมชนผู้สร้างโอกาสให้แก่เด็กและคนในชุมชนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ผู้ผูกสัมพันธ์คนไทยและมุสลิมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยสันติภาพ จัดตั้ง ‘ศูนย์ข้อมูลการเรียนรู้’ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายโดยฝึกให้ลงมือทำเพื่อให้เกิดทักษะในการดำรงชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
8. อินโดนีเซีย นายรูดี้ ฮาร์ยาดี้ ครูผู้จัดการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โรงเรียนมัธยมแบบผสมอาชีวศึกษาที่ 1 จิมาฮิ จังหวัดชวาตะวันตก เน้นการสร้างนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตัล ด้วยเทคนิคการสอนที่ใส่ใจความสนใจของเด็ก โดยการตั้งคำถามเพื่อหาสิ่งที่เด็กชอบและเชื่อมโยงเนื้อหาในชั้นเรียนให้เข้ากับความสนใจของเด็กเป็นรายบุคคล ผลงานที่โดดเด่นคือ “Peppermint” กระบวนการเรียนการสอนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่มาจากคำว่า วางแผน Plan ค้นหา Explore ปฏิบัติ Practice ดำเนินการ Perform สอบถาม Enquiry สะท้อน Reflect จดจำ Memorize และอินเทอร์เน็ต Internet
9. สปป ลาว นายไพสะนิด ปันยาสวัด ครูและหัวหน้าแผนกวิชาภาษาและวรรณกรรมลาว โรงเรียนมัธยมสันติภาพ หลวงพระบาง ผู้ส่งเสริมการสอนเพื่อยกระดับความตระหนักทางวัฒนธรรมลาวและภูมิปัญญาท้องถิ่นหลวงพระบางเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้สืบทอดทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งพัฒนาเอกสารข้อมูลส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดหลวงพระบาง
10. มาเลเซีย นาง เค เอ ราซียาห์ ครูผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาพิเศษ โรงเรียนมัธยมปันจี เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ผู้ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยความรักและความเอาใจใส่ ฝึกฝนทักษะชีวิตเพื่อสามารถอยู่ได้ในสังคม สร้างนวัตกรรมการสอน เช่น ชั้นเรียนแต่งหน้า ห้องเรียนสปาเพื่อพัฒนาเด็กพิเศษ พร้อมทั้งถ่ายทอดการสอนแก่ผู้ปกครองเพื่อฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ครูจึงช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าและดึงพลังในตัวของแต่ละคน หาสิ่งที่เด็กสนใจและมีความสุขที่ได้เรียนรู้ และเป็น 1 ใน 50 ครูผู้รับรางวัลครูดีเด่นโลก “Global Teacher Award” ในปี 2561 คัดเลือกโดย Varkey Foundation ประเทศอังกฤษ
11. เมียนมา นายหม่อง จ๋าย ครูสอนภาษาอังกฤษและเกษตร โรงเรียนมัธยมเจ๊าหมี่ โรงเรียนในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ครูนักสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกศิษย์ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต จูงใจให้เด็กเรียนหนักโดยใช้เทคนิคการสอนต่าง ๆ ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนจากการทดสอบภาษาอังกฤษระดับสุดยอดของเมืองปาเทงกี