เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ได้จัดโครงการศึกษาดูงานเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับกรรมการสภาการศึกษา ที่จังหวัดสระแก้วและฉะเชิงเทรา เพื่อเก็บข้อมูลไปเสนอทำแผนการศึกษาของชาติ
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้อนุมัติแผนพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560-2568 นั้น ในส่วนของสภาการศึกษาจะต้องลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลเพื่อทำแผนการศึกษาชาติด้วย และได้นำกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) พร้อมด้วย นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ลงพื้นที่ประชุมติดตามการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อรองรับ อีอีซี ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา และวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว จ.สระแก้ว รับฟังข้อมูลและความต้องการของสถานศึกษาว่าจะให้ช่วยเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะความต้องการกำลังคนของสถานประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเตรียมผลิตคนรองรับอีอีซีทั้งนี้ เพื่อจะนำมาจัดทำแผนปฏิบัติการย่อย ของแผนการศึกษาแห่งชาติ ว่า ใครจะเข้ามาลงทุนด้านใดบ้าง และโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐต้องจัดรองรับให้มีอะไรบ้าง ซึ่งจะจำแนกออกมาเป็นกลุ่มสาขาวิชาได้ว่ากำลังคนที่จะรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆควรจะมีสาขาอะไร จำนวนเท่าไหร่ ในช่วงเวลานี้มีกำลังคนอยู่แล้วเท่าไหร่ ต้องเติมอะไรบ้าง และต้องผลิตรองรับอุตสาหกรรมใหม่อะไร จากนั้นจึงจะบอกได้ว่าใครควรผลิต หรือ ต้องนำคนที่อยู่ในระบบมาพัฒนาฝีมือใหม่ เพื่อไม่ให้ผลิตเกินจนล้นตลาด
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กรรมการสภาการศึกษายังได้ไปที่โรงเรียนบ้านท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เพื่อไปดูการสอนโค้ดดิ้งของโรงเรียน จากนั้นก็ไปที่โรงเรียนบ้านแสนสุข ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีเด็กกัมพูชามาเรียนกว่า80% ทั้งนี้เมื่อ3-4 ปีที่ผ่านมามีนักเรียนเพียง 30 คน ซึ่งคนในหมู่บ้านก็ไม่เอาลูกมาเรียนที่โรงเรียนนี้ด้วย แต่ผู้บริหารโรงเรียนนี้เขามีความพยายามหางบประมาณและมีเด็กกัมพูชาที่อยู่ดินแดนติดกันข้ามมาเรียนถึง 90 คน เนื่องจากประเทศไทยมีสวัสดิการของรัฐดี ซึ่งจะได้สิทธิเท่ากับเด็กไทย สิ่งเหล่าเป็นแรงจูงใจนอกเหนือจากการเดินทาง ซึ่งโรงเรียนนี้ได้ฝึกอาชีพต่าง ๆ ให้กับเด็กด้วย ซึ่งถือว่ามีการบริหารจัดการดี เพราะผู้บริหารพยายามหาตัวป้อนให้กับเด็ก และสิ่งที่สะท้อนกลับมาตอนนี้คือผู้ปกครองในพื้นที่เอาลูกมาเรียนในระดับชั้นอนุบาลมากขึ้นแล้ว
ณรงค์ ดูดิง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่กับสภาการศึกษา ถือว่าโรงเรียนบ้านท่าเกวียนมีความโดดเด่นในเรื่องของสอนโค้ดดิ้ง ตามนโยบายของคุณหญิงกัลยา ซึ่งโรงเรียนสามารถนำไปปฏิบัติได้ไม่ยาก และที่โรงเรียนบ้านแสนสุขซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กตนมองว่าไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ก็ไม่สำคัญ แต่ความสำคัญขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของครู ซึ่งตนเชื่อว่าเด็กไทยทุกคนมีความสามารถกันทุกคน ส่วนเรื่องสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษานั้น นโยบายของคุณหญิงกัลยาให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชน แต่ก็ยังขาดการสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ ซึ่งรัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วย
นอกจากนี้เลขาธิการสภาการศึกษา ยังพูดถึงเรื่องการศึกษาของเด็กปฐมวัยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งต้องมี 4 กระทรวงเข้ามาร่วมมือกันดำเนินการ คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแลพัฒนาและจัดการศึกษา และการดำเนินงานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัดที่ดูแลเด็กในเวลากลางวัน ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปีบริบูรณ์ หรือ ก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และสามารถนำไปใช้ประเมินการดำเนินงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกสังกัด จำนวน 53,335 แห่ง ซึ่งปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันมีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งส่วนที่ทำได้ตามมาตรฐานและที่ยังทำไม่ได้ แต่สัดส่วนทำไม่ได้มีเยอะกว่า แต่ก็ยังไม่มีมาตรการเร่งรัด อย่างไรก็ตามพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ได้กำหนดให้สภาการศึกษา จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่สนับสนุนงานด้านปฏิบัติ โดยในปีงบประมาณ 2563 สกศ.ได้มีการเสนอแผนงาน ก.พ.ป. ไป 50 ล้านบาท แต่ถูกตัดลดลง 30 ล้านบาท เหลือ20 ล้านบาท หรือ ปรับลดลง60% จากแผนงานที่เสนอ ซึ่ง สกศ.ต้องมาปรับแผนใหม่ลดลงให้เป็นโครงการเล็กๆตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา และอัตรากำลังใน ก.พ.ป.ก็ต้องเกลี่ยมาจาก สกศ. เรียกได้ว่า งานสนับสนุนปฐมวัยขาดทั้งงบประมาณและอัตรากำลัง
สภาการศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำแผนการศึกษาชาติ ดังนั้นหากต้องการได้ข้อมูลจริงก็ต้องลงไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง