ตามที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนการทำงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยเฉพาะบทบาทของศึกษาธิการภาค(ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) นั้น ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัด ศธ.ในฐานะกำกับดูแลสำนักบูรณาการยุทธศาสตร์การปฏิรูปส่วนภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รมว.ศึกษาธิการ ตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้มาทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของส่วนต่าง ๆ ให้ชัดเจนโดยเฉพาะกรณีของ ศธภ. ศธจ. และ สพท. ซึ่งที่ผ่านมาจะถูกมองว่า ทำงานซ้ำซ้อนกันอยู่ แต่จริง ๆ แล้วแต่ละฝ่ายจะมีบทบาท หน้าที่ และภาระงานของตนเองที่ชัดเจน เพียงแต่ในทางปฏิบัติเวลาทำงานอาจมีความรู้สึกว่างานทับซ้อนกันบ้าง แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้ซ้ำซ้อน ดังนั้นจึงต้องมาทำความเข้าใจสื่อสารให้ตรงกัน

ดร.อำนาจ กล่าวต่อไปว่า รมว.ศึกษาธิการ มอบให้มาดูว่าบทบาทของ ศธจ. ศธภ. ซ้ำซ้อนกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.) หรือ สพท.หรือไม่  คือ อยากให้มาดูให้ชัดเจน ถ้าจะอธิบายง่าย ๆตอนนี้ ก็คือ ศธจ. ศธภ.มีหน้าที่เติมเต็ม ทั้งระบบตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงตาย ส่วนองค์กรหลักก็ยังทำหน้าที่หลักในการจัดการศึกษาตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ซึ่ง ศธจ. ศธภ.ก็จะมีหน้าที่ประสานเพื่อตอบโจทย์ของบริบท และตอบโจทย์ของพื้นที่ ท้องถิ่น ชุมชน สังคม จังหวัด โดย ศธภ.จะทำงานสอดคล้องกับที่รัฐบาลที่แบ่งพื้นที่กลุ่มจังหวัดมา  โดยแต่ละกลุ่มก็จะมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่แตกต่างกันตามบริบทและจุดเน้นของแต่ละกลุ่ม ซึ่งการศึกษา คือ พื้นฐานของการเตรียมคนให้เข้ากับระบบของรัฐบาลที่กำหนดไว้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการสั่งการจากส่วนกลางเท่านั้น จึงมี ศธภ.ทำหน้าที่ประสานระดับภาคหรือกลุ่มจังหวัด และ ศธจ.ทำหน้าที่ประสานภายในจังหวัด

“ผม คิดว่า ณ เวลานี้ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการปรับระบบ บทบาท ของแต่ละส่วนให้มีความชัดเจน ไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนเพื่อให้การขับเคลื่อนงานการศึกษาของประเทศเกิดประสิทธิภาพ แต่ก็อาจมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันจนถึงขั้นคิดกันว่า อาจจะไม่มี ศธจ. กับ ศธภ.แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ ส่วนต่าง ๆ ให้ชัดเจน  เพื่อให้การดูแลการศึกษาให้คนทุกกลุ่มทุกระดับตั้งแต่แรกเกิดจนตาย ไม่เกิดความซ้ำซ้อน โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ก็มี สพท.ดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ก็มีอาชีวศึกษาจังหวัด(อศจ.) ดูแลการอาชีวศึกษา ขณะที่ ศธจ. ศธภ. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานช่วยเหลือเพื่อดูแลและเก็บตกให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งการศึกษาท้องถิ่นทุกระดับ ทุกประเภท การศึกษาเอกชน การศึกษานอกระบบและการศึกษษตามอัธยาศัย  ศธจ. ศธภ.ไม่ได้ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนแต่ทำหน้าที่ประสานทั้งภายในและนอกกระทรวง เพื่อให้เกิดการบูรณาการพัฒนาคนในพื้นที่ ซึ่ง คณะกรรมการที่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน จะต้องดูแลบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน วางกรอบความคิด การทำงานนี้ ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน”รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments