ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในมาตรา 40 ระบุไว้ใจความตอนหนึ่งว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ หรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งให้ได้บุคคลที่จะเข้าสู่วิชาชีพครู เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง นั้น ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีมติเรื่องการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยมอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไปจัดทำแนวทางการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และมาตรฐานต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการประกาศใช้ ดังนั้นหลังจากนี้คุรุสภาจะนำข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการคุรุสภาไปปรับปรุงแนวทางการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งคาดว่าจะยกร่างแนวทางฯ แล้วเสร็จในปีนี้ และสามารถนำร่องได้ในปี 2562 เพื่อเป็นการตรวจสอบระบบให้มีความแม่นยำรวมถึงหาข้อบกพร่อง ก่อนที่จะประกาศใช้จริงในปี 2563
ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้คุรุสภาได้เตรียมการในเรื่องการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไว้บ้างแล้ว โดยได้มีการยกร่างแนวทางการดำเนินการทดสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนฝ่ายผลิต ทั้งได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย จากการประชุม 5 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค และที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงได้รับฟังความคิดเห็นทั้งในด้านผลกระทบและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ซึ่งในส่วนขององค์ประกอบการทดสอบจะต้องเป็นการทดสอบสมรรถนะทางวิชาชีพครูตามที่มาตรฐานวิชาชีพครูที่คุรุสภากำหนด ทั้งการทดสอบสมรรถนะทางวิชาชีพครู และการเทียบผลการประเมินความรู้สาขาวิชาเอก ขณะที่เกณฑ์การพิจารณาเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น ผู้สอบจะต้องมีผลคะแนนการทดสอบสมรรถนะทางวิชาชีพครู ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของคะแนนรวม และการเทียบผลการประเมินความรู้สาขาวิชาเอก ต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมวิชาเอกไม่น้อยกว่า 2.00
“การสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ถือเป็นการประเมินคุณภาพบัณฑิตครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เป็นการประกันที่ผลผลิต และเป็นการพัฒนาการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยระยะแรกได้พิจารณาจากการรับรองปริญญาที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์การรับรอง ประกอบด้วย มาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานบัณฑิต บัณฑิตที่จบหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง สามารถใช้คุณวุฒิในการขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้เลย ส่วนระยะที่สอง เป็นการประเมินคุณภาพบัณฑิต ซึ่งจะทำให้เกิดอิสระแก่สถาบันการผลิตในการสร้างสรรค์กระบวนการผลิตครูให้มีความยืดหยุ่น และมีจุดเน้นตามศักยภาพและบริบทมากขึ้น จะทำให้ได้ครูมีคุณภาพ ที่สอดคล้องและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและกระแสโลก” ดร.สมศักดิ์ กล่าว
ด้าน ดร.บูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ รองเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดคุรุสภาครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องข้อสอบที่จะใช้ในการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกันอย่างกว้างขวางว่าต้องเป็นข้อสอบที่สามารถวัดความรู้ ความสามารถเรื่องวิชาชีพครู ของผู้เข้าสอบได้จริง โดยอาจจะต้องมีการผสมผสานวิธีการทดสอบทั้งในรูปแบบของการสอบแบบปรนัย และอัตนัยเข้าด้วยกัน และเปิดโอกาสให้สถาบันฝ่ายผลิตได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกข้อสอบด้วย ส่วนหน่วยงานที่จะเป็นผู้ดำเนินการสอบนั้นได้มอบให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ สทศ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และใช้ข้อสอบที่คุรุสภาดำเนินการออกข้อสอบไว้ไปดำเนินการสอบเท่านั้น.