เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาว่า เรื่องนี้ถือเป็นนวัตกรรม จริง ๆ เพราะภายใต้การจัดการศึกษาในระบบปกติจะมีตัวแปรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา โดยตัวแปรเหล่านั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันทั้งประเทศ ฉะนั้นการที่เราจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องยึดบริบทพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยดูว่าสภาพสังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ นิสัยจิตใจผู้คนเป็นอย่างไร  และในยุคที่เรากำลังพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ต้องไปดูว่ายุทธศาสตร์ชาติได้มุ่งเน้นใช้ศักยภาพอะไร เพื่อพัฒนาไปในทิศทางไหน เพราะแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันอีกเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องไปดูว่าแต่ละพื้นที่มีทักษะองค์ความรู้ใดที่จะพัฒนาเด็กให้ไปในทิศทางความต้องการของพื้นที่  ซึ่งการขีดวงพัฒนาให้แคบลงเป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจึงเป็นโอกาสที่จะศึกษาตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วเข้าไปดำเนินการ

เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ก็ได้ดำเนินการอยู่ แต่เป็นการทำภายใต้กฎหมายที่เหมือนกันทั่วประเทศ เป็นเหมือนตัดเสื้อตัวเดียวแต่ไปใช้ทั้งประเทศซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นการมีพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจึงเกิดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามสภาพภูมิประเทศ ภูมิสังคม และเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญอย่างมาก

“ขณะนี้สพฐ.และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)กำลังเตียมข้อมูลเพื่อวางแผนการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยทาง ทีดีอาร์ไอได้มาขอฐานข้อมูลจากทางสพฐ.เพื่อจะไปร่วมกันวิเคราะห์และประมวลผลให้เห็นภาพที่ชัดเจนของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว”ดร.บุญรักษ์ กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments