ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ได้พิจารณากรณีผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาถูกกล่าวหา/กล่าวโทษที่ประพฤติผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวม 166 ราย โดยวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว 159 ราย ในจำนวนนี้ลงโทษสูงสุดขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จำนวน 43 ราย พักใช้ใบอนุญาตฯ มีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 5 ปี จำนวน 18 ราย ภาคทัณฑ์ จำนวน 43 ราย ตักเตือน จำนวน 49 ราย ยกข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ จำนวน 6 ราย และได้พักใช้ใบอนุญาตฯ ทุกประเภทไว้ก่อนตลอดระยะเวลาการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยไม่ต้องรอผลการสอบสวนฯ จำนวน 7 ราย
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า เรื่องร้องเรียน กล่าวหา/กล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพที่กระทำความผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพมีหลากหลายกรณี เช่น ความผิดเกี่ยวกับเพศ กระทำอนาจาร ทุจริตต่อหน้าที่ ชู้สาว ยาเสพติด ลงโทษนักเรียนไม่เหมาะสม ละทิ้งหน้าที่ ลักทรัพย์ ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม หมิ่นประมาท รายงานเท็จ แอบอ้างผลงานผู้อื่น และเปลี่ยนแปลงข้อความสำเนาเอกสาร เป็นต้น ซึ่งกรณีความผิดที่ได้รับโทษสูงสุดขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับเพศ กระทำอนาจาร ค้าประเวณี การทุจริตต่อหน้าที่ และความผิดเรื่องชู้สาว โดยเฉพาะกรณีการล่วงละเมิดทางเพศกับนักเรียน คุรุสภาได้ย้ำเตือนมาโดยตลอดว่าจะลงโทษอย่างจริงจัง หากความผิดปรากฏหลักฐานชัดเจนจะพิจารณาลงโทษขั้นสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันที และบันทึกประวัติความผิดไว้ในระบบสารสนเทศฯ ด้านทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพื่อประกอบการพิจารณาลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อไป
“ ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ทุกสังกัด ช่วยกันกำกับดูแลให้ทุกพื้นที่ในสถานศึกษาเป็นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนและครู อย่าเพิกเฉยต่อการกระทำอันไม่เหมาะสมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งใดก็ตาม หากพบว่าบุคคลนั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพควรแจ้งข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ ซึ่งคุรุสภาพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางจรรยาบรรณกับผู้ประกอบวิชาชีพอย่างเด็ดขาด” เลขาธิการคุรุสภา กล่าว.