เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ (สัญจร) ครั้งที่ 5/2568 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องประชุมบานบุรี โรงเรียนสตูลวิทยา จังหวัดสตูล โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วม ประชุม ว่า รมว.ศึกษาธิการขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยรณรงค์ให้เด็กเข้ามาสอบโอเน็ตมากขึ้น บางส่วนก็มีการวอร์คอินเพิ่มขึ้น แสดงถึงความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกกชน(สช.) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เป็นอย่างดี หากยังมีเด็กที่ต้องการสอบก็ต้องหาโอกาสให้เด็กได้สอบด้วยวิธีการต่าง ๆ ต่อไป
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA โดยในส่วนของ สพฐ.ได้จัดอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ 245 เขต 78 ห้องเรียน มีกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้ว 209,484 คน อบรมแล้วเสร็จ 138,734 คน และได้ดำเนินการขยายผลการอบรมฯ สู่ สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ จำนวน 52 โรงเรียน ส่วนการเตรียมความพร้อมการประเมินนักเรียน ระดับชั้น ม. 2 ในการนำผลมาพัฒนาเติมเต็มนักเรียน ภาคเรียนที่ 1/2568 จำนวนประมาณ 531,919 คน ระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ – 17 มีนาคม 68 ผ่านทางออนไลน์ โดยใช้ชุดกิจกรรมมาพัฒนา ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้มีปฏิทินการขับเคลื่อนฯ 2568 เช่น การชี้แจงเตรียมความพร้อมครู ม.4 ทบทวนครู ม.3 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568, การสร้างความตระหนักแก่ผู้บริหารและครู และผู้ปกครอง ในเดือนพฤษภาคม 2568, ซ้อมสอบ นักเรียน ม.2 ระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ – 17 มีนาคม 68 ในระบบ PISA Style และนักเรียน ม.3 ระหว่างวันที่ 10 – 21 กุมภาพันธ์ 68 รูปแบบ PAPER และยังมีกำหนดจัด Computer Summer Camp 2025 ส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้รูปแบบ Anywhere Anytime คาดว่าช่วงระหว่างเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 2568
ส่วนสภาการศึกษา ได้นำเสนอประเด็นท้าทายการพัฒนาคุณภาพผลลัพธ์ ด้านความฉลาดรู้ทางดิจิทัล Digital Literacy ในการประเมิน PISA 2025 ซึ่งเด็กที่มีคะแนนวิชาคณิตศาสตร์สูง จะเรียนรู้ด้านดิจิทัลได้ดี ส่วนของไทยมีผลการวัดความฉลาดรู้ด้านดิจิทัล พบปัญหาด้านการใช้เครื่องมือดิจิทัล ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ให้หนุนเสริมความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลของผู้เรียน ได้แก่
- ส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณในระดับประถมศึกษา เน้นการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การวางแผน การวิเคราะห์ข้อมูล การผลิตสื่อการเรียนที่น่าสนใจ เช่น โค้ดดิ้ง สะเต็ม
- การพัฒนาทักษะดิจิทัลรอบด้าน ไม่ใช่เน้นเฉพาะการแชร์ เช่น การใช้เครื่องมือ การจัดการข้อมูล การรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัล
- จำเป็นต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่คนทุกช่วงวัย
- การนำ AI มาประยุกต์ใช้ เช่น การสอนเฉพาะรายบุคคล การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับแผนการสอนให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะตัว รายวิชาเรียนรู้ AI
นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับรายงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (THAILAND Zero Dropout) นั้น สกศ. รายงานผลการดำเนินงานการติดตามฯ พบว่า ข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ณ 27 มกราคา -3 กุมภาพันธ์ 68 จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน ติดตามแล้ว 881,085 คน (ร้อยละ 85.92) และสามารถนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา 327,484 คน (ร้อยละ 31.93) ยังไม่ได้ติดตาม 144,429 คน (ร้อยละ 14.08) อย่างไรก็ตามสำหรับการติดตามเด็กวัยเรียนภาพรวมเพิ่มขึ้น 160,234 คน (สพฐ. 126,625 คน ศธจ. 33,609 คน) เป็นเด็กไทย 70,997 คน และเด็กต่างชาติ 89,237 คน
ส่วนเรื่อง การส่งเสริมการอ่าน สกศ. ได้รายงานแผนการสำรวจการอ่านของคนไทย ซึ่งการอ่านเป็นทักษะที่สะท้อนคุณภาพการศึกษา ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการวัดความสามารถการแข่งขันทางการศึกษาระดับนานาชาติ เช่น PISA โดยจะจัดทำโครงการร่วมกับ สกร. สสช. เพื่อเก็บข้อมูลในระบบออนไลน์พร้อมกันทั่วประเทศ ก่อนจะรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปผลให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างเคร่งครัด เร่งรัดกระบวนการทุกขั้นตอนตามกรอบเวลา และให้มีการติดตามเรื่องงบประมาณให้ครบทุกมิติ ทั้งเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ รวมถึงเงินกองทุนเพื่อให้ได้งบประมาณในส่วนอื่นๆมาเติมเต็มการจัดการศึกษา