เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 ดร. อรรถพล สังขวาสี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ตอนนี้ ตนมีข้อห่วงใยต่อการวางแผนและผลิตพัฒนากำลังคนในอนาคตของประเทศ เป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการหลายแห่งในประเทศได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานจากปัญหาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี มีการให้พนักงานออกจากงาน ปัญหาสังคมสูงวัย รวมถึงจากรายงาน Future of Jobs 2025 ของ World Economic Forum (WEF) จากรายงานฉบับดังกล่าว พบว่า ลักษณะของอาชีพมีความเป็นพลวัตสูงมาก โดยในปี 2025 มีการเติบโตของความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 78 ล้านอัตรา หรือคิดเป็นร้อยละ 7 มีอาชีพเกิดใหม่กว่า 170 ล้านอัตรา หรือคิดเป็นร้อยละ 14 แต่ก็มีอาชีพที่ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรหรือ อื่น ๆ อีก 92 ล้านอัตรา หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ดังนั้น จึงจำเป็นที่ภาคการศึกษา ต้องตื่นตัว โดยนำรายงานดังกล่าวมาวางแผนและแนวทางการผลิตพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจอนาคต ทั้งในระดับยุทธศาสตร์ มีการกำหนดเป้าหมาย ระยะสั้นและระยะยาว ที่ชัดเจน เช่น การผลิตแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงในสาขาที่ขาดแคลน หรือในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การสร้างแผนแม่บท (Master Plan) จัดทำแผนพัฒนากำลังคนโดยพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจและแนวโน้มของอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรม 4.0, โลจิสติกส์, และพลังงานสะอาด การส่งเสริมการศึกษาที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) New S -Curve: ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), หุ่นยนต์, การบิน, ดิจิทัล First S-Curve: อิเล็กทรอนิกส์, อาหาร, ท่องเที่ยว โดยเร่งปรับหลักสูตรการศึกษาออกแบบหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล เช่น การเขียนโปรแกรม การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มรายวิชาเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในทุกระดับการศึกษา รวมทั้ง ทักษะที่สำคัญที่องค์กรในไทยต้องการ 5 อันดับแรก ตามรายงานของ WEF คือ ทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูลและทักษะความเป็นผู้นำและสร้างอิทธิพลต่อสังคม
ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญควรสนับสนุนการเรียนการสอนสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น และต้องสร้างความเข้าใจว่าการจัดการอาชีวศึกษานั้น เป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ ไม่ใช่การจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาโดยควรเพิ่มความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมใช้โมเดล Work-Based Learning (WBL) ซึ่งเน้นการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง และการพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต รวมถึงการพัฒนาทักษะใหม่ (Reskilling) ผ่านPlatform การศึกษาวิชาชีพคือวิทยาลัยสารพัดช่าง ที่มีอยู่ทุกจังหวัด โดยฝึกอบรมแรงงานภาคประชาชน ที่ต้องการเปลี่ยนสายงานหรือเพิ่มทักษะ เช่น การบริหารจัดการ Supply Chain หรือการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ การเพิ่มทักษะ (Upskilling) พัฒนาทักษะเชิงเทคนิคที่สูงขึ้น เช่น การออกแบบระบบ IoT (Internet of Things) หรือการควบคุมหุ่นยนต์ อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนาแรงงาน “แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) และต้องสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย เช่น หลักสูตรออนไลน์ด้าน Data Analytics หรือ Cybersecurity การฝึกอบรมด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR/AR) ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงในสถานการณ์การทำงาน เช่น การฝึกควบคุมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม การสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการจับคู่ความต้องการแรงงาน (Job Matching) สร้างฐานข้อมูลกลางที่แสดงตำแหน่งงานและทักษะที่จำเป็น การฝึกงานในสถานประกอบการ (Internship)ส่งเสริมการฝึกงานระหว่างนักศึกษาและโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพ และการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา (R&D)สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมเชื่อมโยงงานวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน สิ่งสำคัญต้องวางระบบประเมินและติดตามผลโดนจัดทำระบบประเมินผลความสำเร็จของโครงการ เช่น อัตราการจ้างงานและความพึงพอใจของนายจ้าง การพัฒนากำลังคนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวได้”อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว