ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ว่า โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เป็นโครงการหนึ่งในแผนพัฒนา “ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เป็นโครงการที่จะสร้างคุณภาพด้านการศึกษาให้แก่ประเทศ โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม งานอาชีพ และสุขอนามัย รวมถึงเป็นศูนย์รวมบริการการศึกษาแก่นักเรียนและชุมชน ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักเรียนในชนบท ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชน บ้าน วัด รัฐ และโรงเรียนด้วย
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา ซึ่งมีอยู่ในทุกตำบล และระดับมัธยมศึกษาซึ่งมีไม่ครบ โดยโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าโครงการต้องผ่านการกลั่นกรองตามลำดับตั้งแต่คณะกรรมการระดับตำบล ระดับอำเภอ และ ระดับจังหวัด ซึ่งขั้นตอนนี้ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว และได้เข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)และศึกษานิเทศก์แล้ว โดยในขั้นตอนการพัฒนาฯนี้จะมีแผนเป็นระยะ เริ่มจากการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนวันที่ 16 พ.ค.62 ซึ่งโรงเรียนต้องตอบคำถาม 10 ข้อให้ได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมต้องเป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล มีเป้าหมายอย่างไร เป็นต้น โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ เรื่องของคุณภาพทางวิชาการ ว่า มีการเตรียมความพร้อมในหลักสูตรสถานศึกษาก่อนเปิดภาคเรียนอย่างไร โดยจะมีการประเมินครั้งแรก 3 ตัวชี้วัด คือ โรงเรียนได้ปฏิบัติตาม 10 ขั้นตอนหรือไม่ มีการทบทวนหลักสูตรสถานศึกษาหรือไม่ การขับเคลื่อนบุคลากรเป็นอย่างไร เพราะเป้าหมายระยะยาวของโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล คือ การมีบุคลากรครบชั้น ครบวิชาเอก และมีครูครบวิชาชีพหรือความรู้เฉพาะด้านทักษะที่จะทำให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง
“สำหรับการประเมิน ระยะที่ 2 ในปีการศึกษา 2562 โรงเรียนต้องทำแผนพัฒนาบุคลากรและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ซึ่งได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนช่วยเหลือด้านต่างๆ กับ 7 กระทรวงหลักไว้แล้ว ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งนี้การประเมินระยะที่ 2 นี้ จะดูผลสัมฤทธิ์ที่ตัวเด็กเป็นรายชั้น โดยมีตัวชี้วัดง่าย ๆ ที่เห็นได้จริงเพื่อให้ผู้ปกครองยอมรับได้ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะยาวถึงปี 2565 ที่จะวางเรื่องของงบประมาณ ซึ่งมีแนวคิดให้ทุกสำนักให้ความสำคัญกับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โดยจัดโครงการเด่น ๆ ตามนโยบายที่ประสบความสำเร็จลงที่โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เช่น การสอนภาษาอังกฤษโดยครูต่างชาติ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาโรงเรียนให้มีมาตรฐานระยะยาว”ดร.บุญรักษ์กล่าวและว่า ทั้งนี้ ประเทศไทยมีตำบลทั้งสิ้นกว่า 7,000 ตำบล/เขต โดยโรงเรียนที่สพฐ.ประกาศให้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการในรอบแรก แบ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาที่มีอยู่ 183 เขตพื้นที่ จำนวน 6,843 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีอยู่ 42 เขต พื้นที่ จำนวน1,140 แห่ง ที่เหลือให้โรงเรียนตรวจสอบและยืนยันอีกครั้ง เพื่อประกาศเป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลในรอบที่ 2 ต่อไป อย่างไรก็ตามในระยะสั้นเรามีวิธีที่จะทำให้ครูครบ 3 ประการ 7 วิธี คือ ถ้าโรงเรียนมีอัตราว่างต้องประสานเขต และ ศธจ.หาครูมาลงให้เต็ม หรือ ถ้ามีอัตราจ้างก็ให้ดำเนินการจ้าง แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้จริง ๆ ก็ให้ใช้นวัตกรรม สื่อการสอนมาช่วย เช่น ดีแอลทีวี หรือ สื่อเทคโนโลยี มาใช้ เป็นต้น