เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2568 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.)และ สภาการศึกษา(สกศ.)  โดย ในส่วนของ สพฐ.มีความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ในระดับเขตพื้นที่ ทุกรุ่น ใน 245 เขตพื้นที่ ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 176,465 คน อบรมเสร็จแล้ว 44,584 คน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ สกศ.นำเสนอข้อค้นพบจาก โครงการ PISA-Based Test for School (PBTS 2023) ประเทศไทย ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการศึกษาของผู้เรียน ได้แก่ 1. ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนอย่างทวีคูณ “การยกระดับ PISA จึงต้องให้ความสำคัญครอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วย” 2. ผลคะแนน PBTS 2023 เชื่อมโยงกับคะแนนโอเน็ต ป.6 “หากสามารถพัฒนาผลการทดสอบโอเน็ตได้ ก็จะทำให้ผลทดสอบ PISA ดีขึ้นด้วยเช่นกัน” 3. ปัจจัยที่ส่งผลต่อ PISA ได้แก่ เศรษฐานะ สภาพแวดล้อมในห้องเรียน ทักษะสมอง EF กับเด็กปฐมวัย Personality และ Growth Mindset เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลการทดสอบ PISA “การพัฒนานักเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาหรือปฐมวัย ช่วยยกระดับผลการทดสอบ PISA และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ด้วย

“ที่ผ่านมา เด็กสมัครสอบโอเน็ตเยอะ แต่ไปเข้าสอบน้อย จึงมอบให้ สพฐ. ไปหาแนวทางและวิธีการสร้างความสนใจและดึงดูดใจให้เด็กสมัครใจเข้าสอบทุกคน (100%) เพื่อนำผลโอเน็ตมาพัฒนาการเรียนการสอน โดยใช้แนวทาง Anywhere Anytime จัดสอนเสริมหรือติวให้กับเด็กที่ยังอ่อนในวิชาต่าง ๆ และนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรในแต่ละช่วงชั้นให้ทันสมัย รวมถึงนำไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูให้มีคุณภาพมาตรฐานด้วย และที่สำคัญในส่วนของนักเรียน ม.3 เมื่อเข้าสอบโอเน็ตแล้วทำให้รู้ถึงจุดอ่อนก็จะมาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสอบPISA  ต่อไป เพราะPISA เป็นระบบการสุ่มสอบซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะเป็นเด็กคนไหน ดังนั้นเราก็ควรเตรียมความพร้อมให้เด็กทุกคน จึงต้องรณรงค์และขอร้องให้เด็ก ม.3 เข้าสอบให้มากที่สุด”พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนของการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (THAILAND Zero Dropout) ทาง สกศ.รายงานข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ณ วันที่ 6 ม.ค.2568 พบจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน ติดตามแล้ว 557,277 คน คิดเป็นร้อยละ 54.34 ยังไม่ได้ติดตาม 468,237 คน คิดเป็นร้อยละ 45.66 โดยในจำนวนนี้ มีเด็กที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ ช่วงอายุ 6 – 15 ปี ตกหล่นจำนวน 442,962 คน ติดตามแล้ว 176,450 คน คิดเป็นร้อยละ 39.83 ยังไม่ได้ติดตาม 266,512 คน คิดเป็นร้อยละ 60.17  ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราสามารถติดตามน้องกลับมาในระบบได้มากกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก เนื่องจากปีนี้มีการเอาจริงเอาจังทุกส่วน โดยเฉพาะสพฐ.มีโครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยมีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) มีบทบาทในการเข้ามาเติมเต็ม ทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้น ได้รู้ว่าเด็กที่ไม่กลับมาสู่ระบบไปไหนบ้าง ซึ่งจาก บุรีรัมย์ Zero Drop out model พบว่ามีข้อมูลเด็กหลุดออกนอกระบบ จำนวน 4,390 คน พบตัว 1,373 คน ไม่พบตัว 3,017 คน มีผลสำรวจครบทั้ง 100% มีการวิเคราะห์ข้อมูลเด็กที่ค้นพบ ประกอบด้วย ส่วนที่พบตัว จะอยู่ในกลุ่มที่เคยศึกษา กลุ่มที่กำลังศึกษา และกลุ่มที่ไม่เคยศึกษา, ส่วนกลุ่มไม่พบตัว มีสาเหตุจากการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ อยู่ต่างจังหวัด อยู่ต่างอำเภอ และอยู่ในเรือนจำ สถานพินิจ เป็นพระ/เณร หรือเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะหาวิธีการแก้ไขหาทางให้เด็กได้กลับมาเรียน  โดยอาจต้องให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้ามาร่วมจัดหาที่เรียนให้เด็กต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments