เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนโครงการ Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น นั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ตนได้มอบหมายให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงานดำเนินการ และให้สภาการศึกษาเป็นฝ่ายเลขานุการ ขับเคลื่อนทุกมิติ ขณะเดียวกันก็ได้มอบหมายให้นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดและสถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ดำเนินการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 6- 15 ปีที่หลุดจากระบบการศึกษา ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและวางแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีคณะทำงานจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมดำเนินการ มีการทำโฟกัสกรุ๊ปร่วมกับภาคีเครือข่ายที่จัดการศึกษาในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นต้น และวันนี้ สกร.ก็ได้สรุปเป็น Buriram Zero Dropout Model (BZDM)ครบถ้วนรายงานมาที่ตน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานของพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์อีกครั้ง ตนขอให้สกร.ลงพื้นที่ต่อเนื่องอีก 15 วัน เพื่อเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นในการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดzero dropout อย่างแท้จริง
ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า มติบอร์ด สกศ. ได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา แล้ว ซึ่งเป้าหมายของร่างยุทธศาสตร์ฯดังกล่าว คือการลดจำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบให้เป็นศูนย์” ภายในปี 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ค้นหาและติดตาม มีมาตรการแก้ไข และพัฒนากลไกสนับสนุน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ และขั้นตอนต่อไปก็จะทำเป็นคู่มือการแก้ปัญหาที่จะกระจายออกไปทุกพื้นที่ให้ทำงานเป็นระบบเดียวกัน ทั้งนี้จากการรายงานของ สกร.ที่ทำเป็น Buriram Zero Dropout Model เป็นข้อมูลที่ดีมาก และข้อมูลลดลงจากตัวเลขกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ระบุไว้ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สกร.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา การศึกษาเอกชน มีการติดตามเด็กแบบเรียวไทม์ ตัดยอดทุกวัน มีการตามตัวกลับเข้ามาเรียน และส่งต่อ และรายงานมาที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้น สภาการศึกษาก็จะมาทำเป็นคู่มือเพื่อให้แต่ละจังหวัดไปดำเนินการตามคู่มือ เพราะเราได้ถอดบทเรียนจากบุรีรัมย์โมเดลที่ตามเด็กได้ครบ 100% แล้ว