เมื่อวันที่ 2ึ7 พฤศจิกายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ตนได้เน้นย้ำให้มีการติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ผ่านการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่ง สพฐ.ได้นำเสนอแผนการขยายผลพัฒนาและสร้างข้อสอบความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ผ่านระบบออนไลน์ Google Classroom โดยมีแกนนำเข้าระบบเรียนรู้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 คน ทำหน้าที่กำกับ และผู้อำนวยการโรงเรียน 29,152 คน ร่วมติดตามและสะท้อนผล รายงานการเข้าใช้ระบบ Computer Based Test ภาพรวม 245 เขตพื้นที่การศึกษา โดยตนได้มอบหมายให้สพฐ.จัดให้ครบทุกรุ่น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อน “โครงการ Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ของนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทก.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) รับผิดชอบฐานข้อมูลในการดำเนินงาน ทั้งนี้ตนได้กำชับว่าในการดำเนินการให้ใช้ฐานข้อมูลของ ศทก.สป.ศธ. เป็นหลักเพื่อให้การทำงานเรื่อง Thailand Zero Dropout มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จะพยายามลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด โดยมิติในการทำงานของตน คือ ป้องกัน แก้ไข และ ส่งต่อ โดยป้องกัน คือ การมีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งต้องเพิ่มความเอาใจใส่ในการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น แต่ถ้าเด็กหลุดออกจากระบบไปแล้วก็ต้องแก้ไขเอาเด็กกับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้เริ่มแก้ไขไปแล้วด้วยการทำโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการศึกษาไปให้น้อง แต่ถ้าเด็กไม่กลับเข้าสู่ระบบจริง ๆ ก็จะมีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการส่งเสริม ดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการศึกษาหรือได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กที่อยู่ในเรือนจำ เด็กที่กรณีบิดา มารดา ย้ายถิ่นฐานก็จะมีวิธีดำเนินการที่จะส่งต่อเพื่อให้เด็กได้เรียนต่อเนื่อง โดยให้สกร.ไปดูรูปแบบว่าจะดำเนินการกับเด็กกลุ่มนี้อย่างไร และให้นำข้อสรุปมารายงานในวันที่ 15 ธันวาคม นี้
“สำหรับเรื่องของขวัญปีใหม่ เบื้องต้น ผมได้รับรายงานจาก สพฐ.ว่า ปีนี้ จะจัดของขวัญปีใหม่ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้สามารถหยุดเรียนได้ในระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม 2567 โดยให้นับเป็นเวลาเรียนปกติเพื่อให้เด็กเตรียมตัวสอบ ได้อ่านหนังสือที่บ้านได้ หรือถ้าบางแห่งมีความพร้อมก็ให้จัดติว หรือ จัดกล่องความรู้ สู่ความสุข จัดสอนเสริม เพิ่มเทคนิค สร้างความมั่นในใจการสอบ TGAT/TPAT ตามนโยบาย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยครูผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ตามแนวทางประกาศ สพฐ. เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1. ให้สถานศึกษาอนุญาต ให้นักเรียนเรียนเสริมความรู้ทั้งในหรือนอกห้องเรียน (ที่บ้านหรือโรงเรียน) 2. ให้สถานศึกษาที่มีความพร้อม จัดสถานที่ในโรงเรียนเพื่อใช้ในการเรียนเสริมความรู้ให้แก่นักเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 3. ให้สถานศึกษาทุกแห่ง มีมาตรการ กำกับ ติดตาม ตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีคุณภาพ และมีมาตรการป้องกัน ดูแลด้านความปลอดภัย ให้แก่นักเรียน เป็นต้น”พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าว