เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ดร.วรวิชช ภาสาวสุวัศ รองผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า การประเมินคุณภาพภายนอกปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินกว่า 5,000 แห่ง โดยเป็นสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) 2,055 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3,020 แห่ง ซึ่ง สมศ.ได้มีการสำรวจและติดตามการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ พบว่าสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย มากกว่าร้อยละ 95 และสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน มากกว่าร้อยละ 99 ต่างนำผลประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ โดยส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ทำให้สถานศึกษารู้จัก เข้าใจ มองเห็นจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนาของสถานศึกษาอย่างเด่นชัดมากขึ้น เกิดแรงจูงใจที่จะปรับปรุงและพัฒนา และได้นำข้อเสนอแนะไปใช้กำหนดแนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษาในหลายด้าน ทั้งเรื่องการบริหาร การกำกับติดตาม การกำหนดแผนงานและการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาผู้เรียน ผู้สอน ส่งผลให้สถานศึกษาได้รับการพัฒนาและเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานศึกษากว่าร้อยละ 94 ที่เข้ารับการประเมิน รู้สึกพึงพอใจภาพรวมการประเมินคุณภาพภายนอกในครั้งนี้ เพิ่มขึ้นจากรอบที่ผ่านมาที่ได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80


ดร.วรวิชช ได้กล่าวถึงสถานศึกษาที่สามารถนำข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยกตัวอย่าง โรงเรียนสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาจนทำให้เกิด SATUEK Model ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการพัฒนาสถานศึกษา การเสริมสร้างความรู้ด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาผู้เรียน โดยสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่เตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่อนาคต ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีเยี่ยมและมีทักษะการเรียนรู้รอบด้าน เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการประดิษฐ์หุ่นยนต์ซึ่งมีชื่อเสียงโดดเด่นและได้รับรางวัลจากการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติหลายรายการ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติตามได้


รอง ผอ.สมศ. กล่าวด้วยว่า สำหรับ ทิศทางการประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ สมศ.ยังคงยึดหลักการประเมินคุณภาพภายนอกตามนโยบาย “ลดภาระ เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนา และยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) 2) มุ่งลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 3) นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุน การประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ แต่จะเน้นการประเมินที่เจาะลึกและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละสถานศึกษามากขึ้น เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำข้อเสนอแนะจากการประเมินไปใช้ได้อย่างตรงจุดและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และจะให้ความสำคัญกับการประเมินที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งพัฒนาเกณฑ์การประเมินให้เข้มข้นขึ้นในด้านการสร้างสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนที่ปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ และการส่งเสริมสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้เรียน


ด้าน นายธัชเวชช์ ศานติบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตึก กล่าวว่า จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกในรอบที่ผ่านๆ มา ทำให้โรงเรียนมองเห็นจุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนาหลายด้าน และได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินมาปรับใช้ตั้งแต่การปรับแผนพัฒนาสถานศึกษาไปจนถึงการสร้างโครงการและกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รวมถึงบูรณาการกิจกรรมเหล่านี้ในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ที่ครบวงจร ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้ง ด้านผลการเรียนของนักเรียนที่ดีขึ้น อย่างต่อเนื่องโดยในปีการศึกษา 2565 นักเรียนทุกระดับชั้นมีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.14 และผลทดสอบ O-NET ของนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้านการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา โรงเรียนได้รับรางวัล IQA Award ระดับยอดเยี่ยม สะท้อนถึงการพัฒนาด้านการบริหารจัดการและการแนะแนว ที่มีประสิทธิภาพ ด้านการจัดการเรียนรู้ ครูได้ปรับปรุงแผนการเรียนรู้ โดยเน้นทักษะการคิดวิเคราะห์และวิจัยในชั้นเรียน จัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พร้อมปรับปรุงหลักสูตรเพื่อลดภาระผู้เรียนตามแนวคิด “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) ระหว่างครู พร้อมจัดระบบตรวจสอบและประเมินผลผู้เรียนอย่างเป็นระบบเพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงการสอนให้มีประสิทธิภาพ

จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้โรงเรียนสตึกได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างที่ดีของสถานศึกษาในหลายด้าน โดยเฉพาะการนำ SATUEK Model ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้และนิเทศภายใน โดยใช้หลักการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) มาใช้เป็นกรอบหลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดย S คือ Strategic Management การบริหารเชิงกลยุทธ์ A คือ Academic with Moral การส่งเสริม สนับสนุน T คือ Team Work การทำงานเป็นทีม U คือ Unity and Understanding ความเป็นเอกภาพและการสร้างความเข้าใจร่วมกัน E คือ Evaluation การประเมินผล และ K คือ Knowledge Management การจัดการความรู้ ที่เน้นการทำงานเป็นทีมและการบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ 5G ได้แก่ Good Student: เรียนดี มีความสุข ตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ Good Teacher: ครูมืออาชีพ Good Management: บริหารตามหลักธรรมาภิบาลGood School: โรงเรียนคุณภาพ มีความปลอดภัย เป็นมาตรฐานสากล และ Good Community: ชุมชน มีความเชื่อมั่น และได้นำผลสำเร็จของโมเดลนี้มาจัดทำเป็น Best Practice เพื่อเผยแพร่และแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ไปยังโรงเรียนอื่นๆ

3.5 2 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments