เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 39/2567 ว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ติดตามความคืบหน้าแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ภายใต้โครงการ “Thailand Zero Dropout”ร่วมกับ 11 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ ตามนโยบายรัฐบาล โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ดำเนินการสำรวจข้อมูลต่าง ๆ และมีการกระทบยอดจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อวางแนวทางดำเนินการ โดยมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทก.)สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพหลักในการดึงข้อมูล และประสานกับหน่วยงานต่างๆ มาบูรณาการ เพื่อติดตามและนำเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาต่อไป ทั้งนี้เบื้องต้นตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 1,020,000 กว่าคน นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้มีการติดตามและดำเนินนำกลับมาสู่ระบบการศึกษาได้บ้างแล้ว โดยมีโครงการนำน้องกลับมาเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในและนอกระบบ โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) ทั้งนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์
พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวต่อไปว่า ศธ.ได้ประสานข้อมูลกับ กสศ. เพื่อจัดทำให้ข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน ทั้งนี้ จากการรายงานของ สกร. ได้รับข้อมูลเด็กและเยาวชน อายุ 6-18 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567) ของ กสศ. จำนวน 394,039 คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย จำนวน 190,934 คน ต่างชาติ 203,105 คน อย่างไรก็ตาม ทาง สกร. ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบเพิ่มเติม ตั้งแต่ระดับตำบลผ่านแพลตฟอร์ม LD รายงานต่อ สกร.ระดับอำเภอ เพื่อวางแผนติดตามในพื้นที่อำเภอและจังหวัด ผลสำรวจพบว่า จำนวน 273,981 คน มีตัวตน 81,813 คน และยังไม่พบตัวตน 192,163 คน ซึ่ง สพฐ.ได้คิกออฟ โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (Zero Dropout) เรียนดี มีความสุข แล้วในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ที่ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่ผ่านมา
“ผมได้ให้นโยบาย Zero Dropout ลำดับแรกต้องนำเด็กไทยที่หลุดออกนอกระบบ กลับเข้ามาให้ได้มากที่สุด ส่วนเด็กต่างชาติ ถ้าพบตัวแล้วต้องการเรียน ต้องส่งเสริมให้ได้เข้าเรียน โดยให้ดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1. ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบได้อย่างไร และหาสาเหตุเพื่อการป้องกัน 2. เมื่อมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ให้หาวิธีการพาเด็กกลับมาเรียน และ 3. หากเด็กกลับมาเรียนไม่ได้ ต้องมีระบบส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น เช่น สช. สกร. เพื่อให้เด็กได้เรียน เป็นต้น” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับ สรุปผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ได้รายงานผลคุณภาพสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3,025 โรงเรียน ซึ่งปรากฏชัดแล้วว่ามีสถานศึกษาใดที่ประเมินแล้วอยู่ในระดับสีเขียว เหลือง หรือ แดง ซึ่งตนแนะนำให้มีการกระตุ้นเพื่อให้เป็นสีเขียวทั้งหมด เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการประเมิน ทั้งนี้ตนขอให้โรงเรียนมีการประเมินภายในตนเองก่อนทุกภาคเรียน ส่วนการประเมินภายนอกก็ให้สมศ.เข้าไปประเมิน ส่วนโรงเรียนคุณภาพก็สามารถประเมินผ่านระบบออนไลน์ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เพิ่มจำนวนการประเมินได้มากขึ้น