เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงเรียน วัดสมหวัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)สุราษฎร์ธานี เขต 1 และ โรงเรียนสุราษฎร์ธานีพิทยา2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)สุราษฎร์ธานี-ชุมพร โดยโรงเรียนวัดสมหวังเป็นโรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอ ที่มีการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพตามหลักพระพุทธศาสนา คือ กิน ดู อยู่ ฟัง ตามหลักพระพุทธศาสนา ทั้งนี้จากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนและได้ดูห้องสุขาของโรงเรียนตามโครงการสุขาดีมีความสุขแล้ว ตนได้เน้นย้ำกับผอ.สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1 และ ผอ.โรงเรียนว่าให้ปรับปรุงและพัฒนาห้องสุขาให้สะอาด แห้ง หอม ถูกสุขลักษณะ ให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ห้องน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะและเพื่อฝึกนิสัยความรับผิดชอบให้นักเรียนโดยให้จัดแบ่งนักเรียนดูแลห้องน้ำ ไปผนวกกับระบบคุณธรรมของโรงเรียนด้วย

เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนโรงเรียนที่สองโรงเรียนสุราษฎร์ธานีพิทยา2 เป็น โรงเรียน 1อำเภอ 1โรงเรียนคุณภาพ และสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรม โดยในการตรวจเยี่ยมเด็ก ๆ ได้นำเสนอเรื่องของสุขาดีมีความสุข ซึ่งฟังแล้วรู้สึกชื่นใจ เพราะนักเรียนบอกว่านักเรียนได้ใช้ห้องน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะทำให้มีความสุขและอยากมาโรงเรียนที่สำคัญยังได้ฝึกเรื่องความรับผิดชอบ จะได้เป็นนิสัยติดตัวเวลาไปใช้ห้องน้ำที่อื่น ก็มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม นอกจากนี้โรงเรียนสุราษฎร์ธานีพิทยา2 ยังมีจุดเด่นเรื่องของการเรียนแบบสะเต็มศึกษา โดยเด็กนำปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนมาศึกษาเรียนรู้ และออกแบบการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี แล้วนำไปใช้ในสถานที่จริง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีมาจัดการเรียนการสอนถือเป็นจุดเด่นของโรงเรียนทำให้โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตนอยากให้เรื่องนี้เป็นจุดเน้นที่ทำให้นักเรียนอยากมาโรงเรียนและทำให้โรงเรียนมีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการตอบโจทย์เรียนดี มีความสุข ซึ่งได้ขอให้ผอ.เขตพื้นที่ฯ ผอ. สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1 ผอ. สพม.สุราษฎร์ธานี-ชุมพร และ ผอ.โรงเรียนทั้ง 2โรง ดำเนินการเพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามาโรงเรียนแล้วน่าอยู่ โรงเรียนเป็นที่แห่งความปลอดภัยเป็นที่แห่งความสุข ซึ่งจะนำไปสู่ เป้าหมายตามนโยบายเรียนดีมีความสุข

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องเด็กDropout ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น เท่าที่รับรายงานจาก ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พบว่า มีเด็กDropout กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 30 -40 คน จากเด็กทั้งหมด 60,000 กว่าคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องของการอพยพย้ายถิ่น ซึ่งเท่าที่ดูคาดว่าน่าจะมีมากที่เกาะสมุย เพราะเป็นพื้นที่ธุรกิจ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่พาลูกมาด้วยเมื่อถึงฤดูทำนาก็กลับไป ซึ่งเด็กก็ต้องติดตามผู้ปกครองจนทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ดังนั้นจึงมอบหมายให้ผอ.เขตพื้นที่ฯไปคิดระบบดูแลนักเรียนโดยอาจจะต้องมีระบบส่งต่อเพราะการห้ามไม่ให้เด็กย้ายตามผู้ปกครองเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อย้ายแล้วเด็กจะต้องไม่ตกหล่นระหว่างทาง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments