เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” OBEC Zero Dropout ที่เน้นมาตรการ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 6 – 7 พฤศจิกายน 2567 โดย ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า การประชุม ผอ.เขตพื้นที่ฯต้องการเน้นย้ำนโยบายรัฐบาลและนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญอย่างมาก กับเรื่อง “Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” โดยวันนี้ได้มีการเปิดตัวโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” เพื่อให้ทุกเขตพื้นที่ฯนำไปสู่การปฎิบัติ ภายใต้นโยบาย OBEC Zero Dropout หรือ สพฐ.ไม่มีเด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน โดยโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง จะเป็นการทำงานสองทาง คือ การติดตามหาเด็กทั้งหมดที่ควรได้รับการศึกษาหรือต้องได้รับการศึกษาแต่ไม่ได้รับการศึกษาให้กลับมาเรียน ซึ่งถ้าเจอตัวแล้วแต่เด็กไม่อยากกลับมาเรียน ก็ต้องนำการเรียนไปให้ โดยมีเป้าหมายคือเด็กทุกคนต้องได้เรียน หรือทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษา เพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล Thailand Zero Dropout

“ผมเน้นย้ำนโยบาย OBEC Zero Dropout กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และฝากไปถึงผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูทั่วประเทศ โดยให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า จะต้องค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาทั้ง 690,000 กว่าคน ซึ่งมีทุกช่วงอายุกระจายอยู่ทุกสังกัดทั่วประเทศ โดยให้มีการส่งข้อมูลไปยังเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อให้เร่งค้นหาติดตามและนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้เร็วที่สุด”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ส่วนวิธีการนำเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาก็มีหลากหลายวิธี หลายรูปแบบซึ่งได้ให้นโยบายกับผอ.เขตพื้นที่ฯไปว่า ให้แต่ละเขตพื้นที่ฯไปออกแบบตามความเหมาะสม เพราะแต่ละพื้นที่จะมีบริบทและวิธีการปฏิบัติแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ในเบื้องต้น สพฐ.ได้มีนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแล้วเช่น หนึ่งโรงเรียนสามรูปแบบ ที่ป้องกันเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ, ศูนย์การเรียนต้นแบบ คือการจัดการศึกษาในกระบวนการยุติธรรมและเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา และ โรงเรียนมือถือ (Mobile School) แอพพลิเคชั่นการเรียนรู้ได้ทุกสถานที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องที่ตนเน้นย้ำ คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่การจัดการศึกษาจะต้องตอบโจทย์นโยบายเรียนดี มีความสุข ที่มีเป้าหมายหรือจุดเน้น 2 เรื่องคือ การจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยมีภารกิจสำคัญ คือ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ให้เขตพื้นที่ฯไปดูว่าอะไรที่เป็นภาระของครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ต้องหาวิธีการลดภาระเหล่านั้นลงให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้ครูมีเวลาในการจัดการเรียนการสอน และอีกส่วนคือการลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครองที่จะต้องลดลงให้เหลือน้อยที่สุดเช่นกัน รวมถึงได้ฝากเน้นย้ำเรื่องของการเตรียมการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ(PISA) ปี 2025 โดยมอบให้ทุกเขตพื้นที่ฯไปดูและเตรียมความพร้อมโรงเรียนที่คาดว่าจะถูกสุ่มเข้าทดสอบจำนวน 9,214 โรง ทั้งนี้ สพฐ.มั่นใจว่าผลการสอบปีหน้าจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกเขตพื้นที่ฯนำนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ มาขับเคลื่อนโดยทำแผนปฏิบัติที่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดชัดเจน และ ผอ. เขตพื้นที่ฯทุกคนต้องรู้สภาพปัจจุบันของโรงเรียน รวมถึงปัญหาอุปสรรค และมีแผนการปฏิบัติ แผนการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผอ.เขตพื้นที่ฯสามารถลงพื้นที่แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์และตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาร่วมกัน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ตนยังได้เน้นย้ำนโยบาย สพฐ .2568 ปีแห่งความท้าทายการศึกษาไทย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นแต่เราต้องขับเคลื่อนนโยบายเรียนดี มีความสุข ต่อไป ทำให้เกิดความท้าทายที่ผอ.เขตพื้นที่ฯ จะต้องเผชิญในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษาซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเนื่องจากมีโรงเรียนในสังกัดจำนวนมาก มีนักเรียน 6,000,000 กว่าคน ครูอีกกว่า 500,000 คน ซึ่งแต่ละวันจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยเกิดขึ้นบ่อยมาก จึงเป็นความท้าทายที่ผอ.เขตพื้นที่ฯจะต้องไปออกแบบมาตรการเฝ้าระวังและย้ำเตือน เมื่อเกิดปัญหาจะต้องแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วเพื่อให้โรงเรียน เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน และ ประเด็น Thailand Zero Dropout ก็ยังคงเป็นความท้าทายต่อไป เนื่องจากวันนี้จำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษายังมีมากอยู่ และอีกความท้าทายที่สำคัญ คือเรื่องของการประเมิน PISA ที่ปี 2022 เรามีผลการประเมินต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี จึงเป็นความท้าทายที่ได้ตั้งเป้าหมายว่า การประเมินในปี 2025 เราจะต้องทำให้สูงขึ้นให้ได้ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ทำให้ทุกคนต้องจับมือกันร่วมมือกันเพื่อยกระดับการสอบPISA รวมถึงการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(O -NET)และทุกการทดสอบ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อตอบโจทย์นโยบายเรียนดี มีความสุขให้ได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments