วันที่ 26 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จัดการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วาระพิเศษ โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม  ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า วันนี้ กพฐ. ได้หารือร่วมกันว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ให้เด็กและเยาวชนมีสมรรถนะทัดเทียมนานาชาติ เป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 โดยสิ่งที่พิจารณาในวันนี้ เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาผู้เรียน คือ เรื่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะกรรมการมีข้อสรุปว่า ให้มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ โดยในเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่า “หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย” เป็นการพัฒนาต่อยอดจาก (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเดิม ซึ่งเป็นกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ได้ยกร่างไว้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ในครั้งนี้ กพฐ. ได้มอบหมายให้คณะทำงาน สพฐ.นำร่างกรอบหลักสูตรดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดและให้นำสื่อ เทคโนโลยีดิจิทัลหรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI มาใช้ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ไม่สร้างภาระให้แก่ครู

“สำหรับการนำหลักสูตรใหม่ไปใช้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ทาง กพฐ. ได้พิจารณาว่าจะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่นี้ในปีการศึกษา 2568 ในสถานศึกษาที่มีความพร้อมและสมัครใจ โดยใช้ในระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาตอนต้นก่อน และมีแผนขยายผลการใช้ให้ครอบคลุมระดับประถมศึกษาตอนปลายและระดับมัธยมศึกษาต่อไป ในปีการศึกษา 2569 นอกจากนี้ ได้มอบหมาย คณะทำงาน สพฐ. จัดทำแผนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล รวมถึงการจัดเก็บบันทึกผลการดำเนินงานต่างๆ เพื่อเสนอ กพฐ. ในการประชุมครั้งถัดไป” ประธาน กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ กพฐ. ได้มอบแนวทางและให้หลักการของหลักสูตรใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำให้เป็นการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime คือ ให้หลักสูตรใหม่มุ่งพัฒนาสมรรถนะตามพัฒนาการของผู้เรียน 5 ช่วงวัย ดังนี้
– ระดับปฐมวัย มีพัฒนาการสมวัย
– ประถมศึกษาตอนต้น มีพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี
– ประถมศึกษาตอนปลาย มีพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่ดี
– มัธยมศึกษาตอนต้น ค้นพบความสนใจ ความชอบและความถนัด
– มัธยมศึกษาตอนปลาย เส้นทางสู่อาชีพ
รวมถึง การจัดโครงสร้างเวลาเรียนที่ยืดหยุ่นตามบริบทหรือความต้องการของสถานศึกษา เน้นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ รายงานผลการเรียนด้วยระดับคุณภาพที่อธิบายความสามารถของผู้เรียน และจัดการเรียนรู้ด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (ACTIVE LEARNING) ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ทันสมัย เช่น AI, แหล่งเรียนรู้, สื่อทันสมัย เพื่อต่อยอดพัฒนาการของผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ สามารถเลือกเรียนสิ่งที่ชอบ และประกอบอาชีพที่ใช่ในอนาคตต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments