เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ครั้งที่ 42/2567 ว่า ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงการเตรียมการฟื้นฟูช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา โดยโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งจากที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน รมว.ศึกษาธิการ และตน พร้อมคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยม พบว่าโรงเรียนดังกล่าวมีโคลนไหลเข้าท่วมสูงถึงเข่า สพฐ.ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทหาร องค์กรเอกชน มูลนิธิ ต่าง ๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือ ที่สำคัญ สพฐ.ได้ให้นักการภารโรง ใน สพป.เชียงราย เขต 3 ทุกโรงเรียน รวมพลังกันเข้าไปช่วยเคลียร์โคลนออกจากโรงเรียนและช่วยทำความสะอาดด้วย ทั้งนี้ สพฐ.มีเป้าหมายว่า จะทำให้ทุกโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติภายในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยได้เร่งจัดสรรงบประมาณไปให้กับโรงเรียนใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรียน โดยใช้หลัก “10 วัน สร้าง 10 วัน ซ่อม”
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายรัฐบาลในการเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายและมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Drop out นั้น วันนี้ตนจึงได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศตรวจสอบ ว่าในแต่ละพื้นที่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอยู่จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จำนวน 1,020,000 คน นั้น ในส่วนของ สพฐ.ตรวจสอบแล้วพบว่ามีนักเรียนในสังกัดหลุดออกจากระบบการศึกษา 699,112 คน ซึ่ง สพฐ.ได้กำชับไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตแล้ว ว่าให้ตรวจสอบค้นหาเด็กให้เจอ และให้ดำเนินการดึงเด็กกลับมาเรียน หากเด็กไม่สะดวกกลับมาเรียน ก็ให้พาการศึกษาไปหาเด็กในพื้นที่ที่เด็กอยู่
“เดิมเราทำโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ตอนนี้จะพาการศึกษากลับไปหาน้อง หรือถ้าเด็กไม่สะดวกมาเรียน เราก็จะพาการศึกษา พาสื่อ พาอุปกรณ์ไปให้เด็กเหล่านี้ได้เรียน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ เด็ก Drop out ตามนโยบายรัฐบาล และตามนโยบาย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ที่กำหนดว่า นโยบาย Thailand Zero Drop out ต้องทำกันอย่างจริงจัง และให้มีการอัพเดทข้อมูลเป็นรายสัปดาห์“ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการทบทวนเกณฑ์การย้ายครูผู้สอนที่ปัจจุบันพบว่า ไม่ได้กำหนดสัดส่วนระหว่างครูที่ย้ายกับครูที่สอบขึ้นบัญชี ทำให้หลายเขตพื้นที่ฯรับย้ายเกือบ 100% ทำให้ครูที่สอบขึ้นบัญชีไว้ขาดโอกาสที่จะได้รับการบรรจุ จึงหารือถึงการทำให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างการย้ายครูที่เป็นครูอยู่แล้ว กับการดูแลผู้ที่สอบติดใหม่ให้ได้รับการบรรจุใหม่ด้วย