เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2567 นายอรรถพล สังขวาสี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยมีแนวโน้มมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อทุกกิจกรรมทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การศึกษาเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวรองรับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การศึกษายังสามารถดำเนินต่อไปได้เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และที่มากไปกว่านั้น ภาคการศึกษาจะต้องเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ดังนั้น การศึกษาจะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้อีกต่อไป โดยระบบการศึกษาจะต้องปรับตัวใน 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ที่นโยบาย แผนและยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น และลึกลงไปถึงหลักสูตรการศึกษาต้องมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ รวมทั้งมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ระดับที่ 2 คือ ระดับบุคลากร ต้องมีการดำเนินการที่มากกว่าการสร้างความตระหนัก โดยต้องขยับมาสู่การสร้างทักษะ และพฤติกรรมในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เป็นนิสัยในบุคลากรทุกภาคส่วน มีแบบอย่างในการดำเนินการ รวมทั้งแรงจูงใจในการปฏิบัติ และในระดับสุดท้าย คือ ระดับโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของสถานศึกษาให้พร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่สะดุดลงเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ หรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด
ดร. อรรถพล อธิบายเพิ่มเติมว่า หากให้วิเคราะห์ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ภาคการศึกษาต้องดำเนินการในทันที จึงคิดว่ามีด้วยกัน 4 ประการ คือ 1) สิ่งแรกสุดที่ภาคการศึกษาจะต้องเร่งดำเนินการ คือ เปลี่ยน Mindset สร้าง Habit การแก้ไขปัญหานี้ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคนและทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ควรคิดว่าลำพังตัวเราเองไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และยังต้องเปลี่ยน Mind set ไปสู่การสร้างอุปนิสัยที่ปฏิบัติได้ง่าย ปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของปัญหานี้แล้ว แต่ยังไม่มีพฤติกรรมที่ช่วยลดโลกร้อนอย่างจริงจัง 2) จุดเน้นของนโยบายการศึกษาที่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางและเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยังไม่มีการบูรณาการทางนโยบายระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้การทำงานยังไม่เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง และ 3) การปรับหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอนของครู แม้ว่าหลักสูตรการศึกษาจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ได้ผลและให้นักเรียนเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าจะต้องเป็นการจัดการเรียนการสอนด้วยการลงมือปฏิบัติมากกว่าการบรรยายให้นักเรียนรู้แต่เพียงอย่างเดียว และ 4) Climate to earn ต้องสร้างกลไกที่ทำให้อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดเป็นรายได้ อาทิ คาร์บอนเครดิต ต้องนำเข้ามาสู่ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนให้เด็กนักเรียนรู้วิธีในการสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้นักเรียนหันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
“ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการนำการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น และสร้างมาตรการแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนให้มีอุปนิสัยและพฤติกรรมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีโรงเรียนเป็นฐาน และครูเป็นแรงเสริม ผมเชื่อว่า ความสำเร็จในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องเริ่มต้นที่โรงเรียน”ดร.อรรถพล กล่าว