เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผย ภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 35/2567 ว่า ในที่ประชุมได้มีการขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันดูแลเกี่ยวกับกรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ทำให้มีนักเรียนและครูเสียชีวิต 23 ราย และบาดเจ็บ 3 ราย ซึ่งได้ช่วยกันดูแลช่วยเหลือดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดเหตุจนกระทั่งพระราชทานเพลิงศพจนเสร็จสิ้นกระบวนการ โดยได้มอบหมายให้ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหนังสือขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตามต่อจากนี้จะต้องมีการติดตามดูแลเยียวยาเด็กและครูที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการติดตามอาการและฟื้นฟูเด็กที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล รวมทั้งติดตามเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ได้มอบมายให้ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ไปสำรวจความต้องการของโรงเรียน ครู และน้อง ๆ ในโรงเรียนที่ถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบว่า ต้องการทำกิจกรรม โครงการอะไรเพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมได้มีการรายงานการช่วยเหลือเยียวยา ครูและนักเรียนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ดังนี้ เงินที่ได้รับตามกฎหมาย ประกันชีวิต ได้แล้วรายละ 2.4 ล้านบาท เงินบริจาคกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ขณะนี้ มีเงิน 2.5 ล้านบาท การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้แก่คุณครู 2 ราย ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้ดำเนินการรวบรวมเอกสารขอเครื่องราชชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย ขณะเดียวกันได้ทำเรื่องขอเลื่อนเงินเดือน 3 ขั้นซึ่งขณะนี้ส่งเรื่องไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว และจะนำเข้าประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นี้ สำหรับทายาทของครูที่เสียชีวิต ซึ่งทำงานอยู่ต่างประเทศ หากต้องการเข้ารับราชการจะดำเนินการต่อไป ส่วนครูที่เป็นนักศึกษาฝึกสอนทางสภามหาวิทยาลัยฯ ได้อนุมัติปริญญาให้เป็นผู้สำเร็จการศึกษา เป็นกรณีพิเศษ และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะมอบเหรียญสดุดีให้แก่คุณครูทั้ง 3 ราย นอกจากนี้จะมีการสร้างอนุสรณ์สถาน สพฐ.จะปรับปรุงสนามเด็กเล่นในโรงเรียน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบและจัดสรรงบประมาณ
“นอกเหนือจากการดูแลช่วยเหลือเยียวยาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังมีมาตรการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นอีก โดยมีหนังสือกำชับทั้งจากสพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนหรือ สช.ไปยังหน่วยงานและโรงเรียนในสังกัดเพื่อกำชับมาตรการป้องกัน รวมถึงแจ้งให้ทราบว่า กรมการขนส่งทางบกยินดีให้ความร่วมมือในการส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจสอบรถที่จะใช้ในการทัศนศึกษา และให้มีการซักซ้อมการใช้รถกรณีเกิดเหตุร้ายด้วย”พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวและว่า สำหรับน้อง ๆ ที่ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล นั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการมีการติดตามอาการและเข้าไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลทุกวัน เพื่อให้กำลังใจผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่การแพทย์ที่ช่วยดูแล อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงการดูแลน้องทั้ง 3 คนเป็นพิเศษที่อาจจะมีบาดแผลจากไฟไหม้ และต้องช่วยกันเยียวยาผู้ปกครองด้วย โดยในส่วนของการรักษาตัวไม่ต้องเป็นกังวลเพราะอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว แต่เราจะต้องมาดูในอีกมิติ คือ เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ปกครองขาดรายได้เนื่องจากต้องหยุดงานมาดูแลน้องในช่วงรักษาตัวซึ่งก็น่าจะช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น ข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 3 ตุลาคม 2567 มีนักเรียน นักศึกษา ที่ประสบภัย 22,739 คน มีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ประสบภัย 1,237 คน โดยจำนวนนี้มีสถานศึกษาและหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ รวม 397 แห่ง โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้รวบรวมงบประมาณ เพื่อของบกลางในการช่วยเหลือเยียวยาหน่วยงานและสถานศึกษา ศธ.ที่ประสบภัย จำนวน 273 ล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง เป็น “ค่าหนังสือ ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียน” ในอัตราเงินอุดหนุนรายหัว ของโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้รับรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของ สพฐ. และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ซึ่งมีการอบรมออนไลน์ “การสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” ระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม 2567 จำนวน 3 วิชา วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ทั้งออนไลน์ผ่าน Zoom meeting (สำหรับครู สพฐ. สช. สอศ. สช. อว. กทม. สถ.) และ Youtube (สำหรับผู้สนใจ) โดยฝึกปฏิบัติในรูปแบบออนไซต์ ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 พร้อมมอบ สสวท. จัดทำคลิปเผยแพร่ออนไลน์เพื่อสร้างการเรียนรู้ในวงกว้าง มีกิจกรรมโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง และโรงเรียนคู่พัฒนา รวมถึงการขับเคลื่อนและนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในห้องเรียน ภาคเรียนที่ 1/2567 ของโรงเรียนมัธยมและโรงเรียนขยายโอกาส จำนวน 9,214 แห่ง ทั้งนี้ สสวท.ต้องมีคู่มือแนะนำการใช้สื่อ วิธีการใช้ ประโยชน์ที่ได้รับ โดยให้ตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติม ภายใต้ชื่อ คณะกรรมการพิซาและยกระดับคุณภาพการศึกษา”