เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า   ขณะนี้การประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งทำการประเมินในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยสามารถประเมินคุณภาพภายนอกและรับรองผลให้แก่สถานศึกษาในระดับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) จำนวน 2,055 แห่ง และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3,020 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ประเภทโรงเรียนนานาชาติ 20 แห่ง และด้านการอาชีวศึกษา จำนวน 44 แห่ง รวมทั้งสิ้น 5,139 แห่ง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 939 แห่ง โดยในการประเมินคุณภาพภายนอก ปี พ.ศ.2567 -2571  สมศ. มุ่งเน้นประเมินเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) จึงไม่มีการตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน โดยมีหลักเกณฑ์การประเมิน  ดังนี้ หากสถานศึกษามีผลการดำเนินงานในแต่ละมาตรฐานเป็นไปตามเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนดไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ถือว่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอก “เป็นไปตามมาตรฐาน” แต่หากสถานศึกษามีผลการดำเนินงานของสถานศึกษาที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ผลการประเมินคุณภาพภายนอก ถือว่า “อยู่ระหว่างการพัฒนา” ซึ่งภายหลังจากการประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พบว่าสถานศึกษาทั้ง 3 ระดับ มีข้อค้นพบที่โดดเด่นเป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) สามารถเป็นแนวทางให้สถานศึกษาอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้กว่า 100 ตัวอย่าง

นอกจากข้อค้นพบที่โดดเด่นแล้ว ยังมีข้อค้นพบที่เป็นจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนา 3 อันดับแรก ของแต่ละประเภทสถานศึกษา ดังนี้
การศึกษาปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็ก มีข้อค้นพบที่เป็นจุดเด่น ประกอบด้วย 1) เด็กส่วนใหญ่มีความสุข ร่าเริงแจ่มใส มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เล่นแสดงความรู้สึกควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ รู้จักปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้เหมาะสมตามวัย 2) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง มีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองชุมชนและหน่วยงานภายนอก สื่อสารให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัยและการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กกับชุมชนเป็นอย่างดี 3) ครูหรือผู้ดูแลเด็กมีการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ปลูกฝังคุณธรรมและการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม โดยการบูรณาการผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ในกิจวัตรประจำวัน ทำให้การจัดประสบการณ์การเรียนรู้มีความต่อเนื่องเป็นระบบ จุดที่ควรพัฒนา ประกอบด้วย 1) เด็กบางส่วนยังไม่สามารถคิดและตัดสินใจแก้ปัญหาได้ตามวัย การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ยังไม่สามารถส่งเสริมให้เด็กส่วนใหญ่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างต่อเนื่อง 2) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยบางส่วนยังขาดการนิเทศและประเมินการปฏิบัติงานของครูหรือผู้ดูแลเด็ก ขาดการนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเป็นระบบ การช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูหรือผู้ดูแลเด็กยังไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้การปฏิบัติงานของครูยังไม่เป็นระบบและไม่ต่อเนื่อง 3) หลักสูตรของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยบางส่วนไม่สอดคล้องตามบริบท ขาดการประเมินผลการใช้หลักสูตรและแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และขาดการปรับปรุงทบทวนหลักสูตรให้เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้การนำไปสู่การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

การศึกษาขั้นพื้นฐาน มีข้อค้นพบที่เป็นจุดเด่น ประกอบด้วย 1) สถานศึกษาเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยม และมีการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง ทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา วิเคราะห์สภาพปัจจุบัน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา 2) สถานศึกษามีมาตรการรักษาความปลอดภัยตามบริบทของสถานศึกษาหรือตามนโยบายที่ต้นสังกัดกำหนด มีแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ติดตามเฝ้าระวัง ป้องกันการเกิดอุบัติภัย ภัยพิบัติ 3) สถานศึกษามีการจัดทำแผนงานพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพและส่งเสริมให้ครูและบุคลากรได้รับการอบรมพัฒนาทางด้านวิชาชีพและการจัดการความเสี่ยง ความปลอดภัย นำไปสู่การทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้น ส่วน จุดที่ควรพัฒนา ประกอบด้วย 1) สถานศึกษาบางแห่งยังกำหนดนโยบาย ทิศทาง กลยุทธ์ และแผนงานไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยม ขาดการบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมและขาดการนำผลการประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอกมาใช้ในการพัฒนาสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม 2) ผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่งขาดการนำผลการนิเทศไปพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครู และยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูไม่ต่อเนื่อง 3) สถานศึกษามีความพยายามในการสร้างเสริมความสามารถนำตนเองในการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่แหล่งเรียนรู้ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง อีกทั้ง สถานศึกษามีหลักสูตรสถานศึกษาที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง แต่ยังขาดการบูรณาการแผนการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางในการเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์

ด้านการอาชีวศึกษา มีข้อค้นพบที่เป็นจุดเด่น ประกอบด้วย 1) ทักษะและการนำไปประยุกต์ใช้ของผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษา 2) สถานศึกษามีการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แหล่งเรียนรู้ สถานที่ฝึกงาน 3) สถานศึกษามีการส่งเสริมสนับสนุนให้จัดทำนวัตกรรม (Innovation) สิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์ และงานวิจัย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์และเผยแพร่สู่สาธารณชน จุดที่ควรพัฒนา ประกอบด้วย 1) สถานศึกษาควรจัดเก็บข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาอย่างเป็นระบบและสอดคล้องตามกระบวนการ PDCA 2) สถานศึกษาควรมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการทุกสาขาวิชาและทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง 3) สถานศึกษาควรส่งเสริมให้ครูมีการกระบวนการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรหรือเนื้อหารายวิชาอย่างต่อเนื่องให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคม

ดร.นันทา กล่าวด้วยว่า ภาพรวมผลการประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ 2567 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ สถานศึกษาส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐานซึ่งมีการดำเนินการตามเป้าหมายที่แต่ละสถานศึกษากำหนดไว้ในแผนพัฒนากว่าร้อยละ 90 และมีแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ในทุกระดับการศึกษารวมมากกว่า 100 ตัวอย่างซึ่ง สมศ. จะทำการรวบรวมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อเผยแพร่หน้าเว็บไซต์ สมศ. www.onesqa.or.th สำหรับให้สถานศึกษาที่สนใจเข้ามาศึกษา และนำตัวอย่างที่เหมาะสมไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทสถานศึกษาของตนต่อไป

“สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สมศ. ยังคงยึดหลักการประเมินคุณภาพภายนอกตามนโยบาย “ลดภาระ เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลักเช่นเดิม คือ1) การประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) ไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสินว่าผ่าน หรือ ไม่ผ่าน แต่เน้นสะท้อนภาพความเป็นจริง พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษา 2) มุ่งลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดการใช้เอกสาร และงดพิธีการต้อนรับต่างๆ และ 3) นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อน รวมถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมิน” ดร.นันทา กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments