เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ณ ศูนย์ประชุม NICE สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล และ ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ.  ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง และนายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.  ผอ.และรอง ผอ.สพท. ทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 77 จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักและบุคลากรของ สพฐ. เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
.
นายสุรศักดิ์  กล่าวว่า ตามที่ทุกท่านได้รับทราบแล้วว่า ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงศึกษาธิการมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่พวกเราจะได้สานต่อนโยบายการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2567 จะเห็นได้ว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในงานด้านการศึกษาของประเทศ เพราะ “ทุนมนุษย์ เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริม ผลักดัน ให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ” โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1. การจัดสรรสวัสดิการ ด้านการศึกษา สาธารณสุขและสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน
2. ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม
3. เด็กไทยทุกคน จะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เมื่อเติบโตก็ได้เรียนหนังสือ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
4. ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพ ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางกีฬา
5. พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระและลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
6. ส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษา โดยใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง เพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn)
7. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ
8. เฟ้นหา และช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ที่หลุดจากระบบการศึกษา
9. ส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)

“นอกจากนโยบายการจัดการศึกษาแล้ว ยังให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของเด็กนักเรียน เราควรมุ่งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การรับมือกับภัยธรรมชาติ และปัญหา PM 2.5 โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และนอกจากภัยดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ ยังประสบกับอุทกภัยอย่างหนัก โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน  ได้ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องชาวภาคเหนือทุกท่าน รวมถึงในจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ และได้ฝากให้ สพฐ. เร่งดูแลและให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ ขอชื่นชมกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ที่ปรับโฉมใหม่ เน้นการนำเสนอผลงานให้เห็นประจักษ์ เพราะจะทำให้ผู้บริหารได้มุมมอง แนวคิด วิธีการบริหารงานด้านการศึกษาที่มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น สามารถนำไปบูรณาการ และปรับใช้ตามบริบทในเชิงพื้นที่ต่อไป” รมช.ศึกษาธิการกล่าว


ด้าน ดร.เกศทิพย์  กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กำหนดให้การจัดกิจกรรมในการประชุมฯ ตลอดช่วงระยะเวลา 3 วันนี้ (14-16 กันยายน 2567) ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้แทนสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้นำเสนอผลงานการบริหารจัดการองค์กร หรือผลงานที่ภาคภูมิใจที่ประสบผลสำเร็จในการนำนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของ สพฐ. ไปขับเคลื่อนในพื้นที่จนประสบผลสำเร็จและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักการ 5W1H คือ Who What When Where Why และ How นอกจากนี้ จะมีการแจ้งข้อราชการสำคัญ และเตรียมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากกลุ่มพื้นที่ประจำเขตตรวจราชการ ทั้ง 18 เขตตรวจฯ (245 เขตพื้นที่การศึกษา) และสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายและจุดเน้น นโยบายระยะเร่งด่วน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อไป

“การปรับโฉมใหม่ในครั้งนี้ เราจะแบ่งห้องนำเสนอตามภาค จำนวน 5 ห้อง เพื่อให้ทุกเขตนำเสนอครบทุกคนในวันที่ 14 กันยายน 2567 จากนั้นแต่ละภาคจะคัดเลือกผู้แทนภาคที่นำเสนอผลงานได้ยอดเยี่ยมภาคละ 3 คน ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวน 5 คน เพราะมีเขตพื้นที่เป็นจำนวนมากกว่าภาคอื่นๆ เพื่อมานำเสนอผลงานต่อห้องประชุมใหญ่ในวันที่ 15 กันยายน 2567 ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ว่าบริบทแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา มีวิธีการ มีการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ได้เห็นวิธีการ แนวทาง และนำไปบูรณาการปรับใช้กับเขตพื้นที่ฯ ของตนเองได้ นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้ ผอ.สพท. และรอง ผอ.สพท. ทั่วประเทศ ได้นำเสนอสิ่งที่ได้รับจากการประชุมสัมมนาด้วย ฉะนั้น การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่แค่การมานั่งฟังนโยบาย แล้วรับนโยบายไปปฏิบัติเท่านั้น แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมนำเสนอผลงานของเขตพื้นที่ฯ ที่ตนเองรับผิดชอบ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายลงสู่พื้นที่มีประสิทธิภาพเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments